xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะฝนทิ้งช่วงนานเกือบ 2 เดือน กำลังทำให้นาข้าวใน อ.ตาพระยา เกือบ 2 แสนไร่เสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สระแก้ว - ภาวะฝนทิ้งช่วงนานเกือบ 2 เดือน กำลังทำให้ชาวนา และชาวสวนใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยขณะนี้ข้าวในนากว่า 2 แสนไร่ พากันแห้งตายถึงร้อยละ 80 ด้านหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งจัดทำฝนหลวงช่วย

วันนี้ (10 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รายงานผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนไม่ตกในพื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นเวลานานติดต่อกันเกือบ 2 เดือน ว่า กำลังทำให้นาข้าวในพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ยืนต้นตาย ซึ่งที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยัง อ.ตาพระยา และผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงว่าหากพ้นช่วงปลายเดือน ส.ค.ไปแล้ว พื้นที่ทางการเกษตรที่มีการปลูกข้าว และพืชไร่จะได้รับความเสียหาย

นายประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก เผยว่า หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จึงได้รายงานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อขอตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ จ.สระแก้ว และขณะนี้ได้รับการอนุมัติให้ปรับแผนด้วยการย้ายเครื่องบินคาราแวน 3 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ จากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก มาประจำการที่ อ.วัฒนานคร เป็นการเร่งด่วนแล้ว และขณะนี้ได้เตรียมสารตั้งต้นในการทำฝนหลวงเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหากสภาพอากาศพร้อมก็จะดำเนินการในทันที

ด้าน นายประสาท หอมทิพย์ อายุ 63 ปี ชาวบ้าน อ.ตาพระยา บอกว่า ตนเองได้หว่านข้าวเป็นรอบที่ 2 และหากไม่เสียหายก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยขณะนี้รอเพียงน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่หากในวันที่ 20 ส.ค.นี้ยังไม่มีฝนตก นาข้าวของตนเองที่มีเนื้อที่รวม 24 ไร่ ก็จะได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งขณะนี้นาข้าวร้อยละ 80 เข้าข่ายได้รับความเสียหายแล้ว

เช่นเดียวกับ นางประมาณ บูรณะ อายุ 50 ปี ที่บอกว่า ตั้งแต่ทำนามาปีนี้ถือว่าแล้งที่สุด ซึ่งหากในพื้นที่มีเขื่อน หรือแหล่งเก็บน้ำก็น่าจะช่วยเกษตรกรได้ โดยขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือจากในหลวง รัชกาลที่ 10 ในการพระราชทานฝนหลวง ก็เชื่อว่าน่าจะบรรเทาความเดือดร้อนได้ ซึ่งเกษตรกรทุกคนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

ขณะที่ นายโกเมศ เพชรโกมล กำนันตำบลทัพราช อ.ตาพระยา กล่าวว่า ขณะนี้นี้นาข้าวใน อ.ตาพระยา ได้รับความเสียหายจากภาวะฝนแล้งแล้วประมาณร้อยละ 80 อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับค่าชดเชยประมาณไร่ละ 1,100 บาท ส่วนเกษตรกรที่ทำประกันผลผลิตทางการเกษตร ก็จะได้รับความช่วยเหลือประมาณ 2,200 บาทต่อไร่




กำลังโหลดความคิดเห็น