xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหัวอกเรือจ้าง “ครูหมี” เหยื่อศิษย์แห่ชักดาบ วอนเลิกโทษเด็ก จี้แก้วิกฤตหนี้ “กยศ.” ยั่งยืน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ครูหมี”  นายสรพงศ์  เค้ากล้า อายุ  58 ปี ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เรือจ้างผู้แบกภาระค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ให้ลูกศิษย์ 40 คน และ 17 คน มีปัญหาไม่เงินชำระหนี้
ชัยภูมิ - เปิดหัวอกเรือจ้าง “ครูหมี” ชัยภูมิ เหยื่อศิษย์แห่ชักดาบ เผยปมลึกเบี้ยวหนี้ “กยศ.” วอนเห็นใจเลิกโทษเด็ก ชี้เขาไม่มีเงินจึงกู้หวังเรียนจบสูงได้ทำงานดี ไม่มีใครอยากเบี้ยวหนี้หากมีเงินมีงานทำที่ดีพอ แนะผ่าทางตันแก้วิกฤตหนี้ กยศ.ยั่งยืน ทุกฝ่ายต้องร่วมช่วยส่งเด็กไทยถึงฝั่งอย่างแท้จริง



วันนี้ (1 ส.ค.) หลังเกิดกรณี “ครูวิภา บานเย็น” ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ที่ค้ำประกันเงินกู้ในกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้นักเรียนกว่า 60 คน และถูกนักเรียนกว่า 30 คน เบี้ยวไม่ชำระหนี้ จนถูกยึดบ้านและเป็นหนี้สินแทนเด็กตามมาจำนวนมาก ต่อมา ได้มีคุณครูที่ จ.ชัยภูมิ คือ “ครูหมี” หรือนายสรพงศ์ เค้ากล้า อายุ 58 ปี ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ (สังกัด อบจ.ชัยภูมิ) เผชิญชะตากรรมเดียวกัน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ขอร้องลูกศิษย์ที่เบี้ยวหนี้ กยศ.ขอให้รีบไปติดต่อใช้หนี้ที่ครูหมีเป็นคนค้ำประกันให้ทั้งหมดกว่า 40 ราย มาตั้งแต่ช่วงปี 2539-2548 เฉลี่ยต่อรายกว่า 200,000-380,000 บาท รวมกว่า 8 ล้านบาท พร้อมขอร้องลูกศิษย์อย่าต้องทำให้ครูลำบากในบั้นปลายชีวิตซึ่งใกล้เกษียณอายุราชการเหลืออีกเพียง 1 ปีเศษ เพราะหากลูกศิษย์ไม่จ่ายหนี้ กยศ. ทั้งบ้านครูหลังเดียวที่มี และเงินก้อนที่จะได้หลังเกษียณราชการซึ่งหวังว่าจะเก็บไว้ใช้ยามแก่ชรา และรักษาตัวเองก็จะไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย

อีกทั้งปัจจุบัน “ครูหมี” มีอาการเจ็บป่วยหลายโรครุมเร้า ต้องใช้เงินรักษาตัวเองในส่วนที่เบิกจากทางราชการไม่ได้เดือนละกว่า 10,000 บาท

ทั้งนี้ ลูกศิษย์ที่ครูหมีค้ำประกันเงินกู้ กยศ.ให้รวม 40 คนนั้นมีปัญหาไม่ชำระหนี้ 17 ราย รวมมูลหนี้กว่า 4 ล้านบาท ทำให้ครูหมีถูกหมายศาลบังคับคดีจาก กยศ.เรียกให้ไปไกล่เกลี่ยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องออกตามหาลูกศิษย์มาไกล่เกลี่ยเพื่อชำระหนี้มาแล้วหลายรอบหลายราย กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค. หลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ได้มีลูกศิษย์ที่รักครูหมีช่วยติดต่อกลุ่มลูกศิษย์ที่ไม่ชำระหนี้ กยศ.ได้ทั้งหมดแล้ว

ล่าสุด ครูหมี หรือนายสรพงศ์ เค้ากล้า ครูโรงเรียนห้วยต้อนพิทยาคม จ.ชัยภูมิ ออกมาเปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้สามารถติดต่อลูกศิษย์ที่เกิดปัญหาไม่ชำระหนี้ กยศ.ทั้ง 17 คนได้แล้ว จากที่ค้ำประกันให้ทั้งหมด 40 คน โดยลูกศิษย์ 15 คน ในจำนวน 17 คนที่มีปัญหาได้ติดต่อมาเพื่อที่จะนำเงินไปจ่ายหนี้ กยศ.แล้ว เพราะที่ผ่านมา เกิดปัญหาหลังกู้ยืมเงินเรียนจนจบในระดับปริญญาตรีแล้วได้ทำงานที่ไม่มั่นคงต่อเนื่อง หรือมีทำงานแบบสัญญาปีต่อปี จึงขาดส่ง กยศ.เป็นช่วงๆ และจากนี้ไปทุกคนเริ่มมีอาชีพที่มั่นคงขึ้นก็จะทำตามสัญญาชำระคืนเงินกู้ให้แก่ กยศ.ได้

อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 17 คนนี้ ยังเหลืออีก 2 คนที่ครูเองก็เห็นใจลูกศิษย์ทั้ง 2 คนนี้มาก เพราะปัจจุบันเรียนจบไปแล้วไม่มีงานทำที่แน่นอน คนแรกตกงานมากว่า 2 ปีแล้ว และอีกคนมีปัญหาครอบครัวพ่อแม่เสียชีวิต และเมื่อไปมีครอบครัวก็แตกแยกเลิกกับสามี ต้องมีภาระเลี้ยงลูกน้อยวัย 2 ขวบ อีก 1 คน จนถึงวันนี้ลูกศิษย์ 2 คนนี้ยังไม่สามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ กยศ.ตามกำหนดได้เลย ตอนนี้ครูเองพยายามหางานให้ลูกศิษย์ทั้ง 2 คนได้ทำเพื่อเลี้ยงชีพและมีเงินมาชำระหนี้ได้ต่อไป

ฉะนั้น จากปัญหากรณีการเบี้ยวหนี้ กยศ.โดยรวมแล้ว จึงไม่อยากให้สังคมไปโทษเด็ก หรือลูกศิษย์ อยากให้ทุกฝ่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กยศ.ที่รับผิดชอบโดยตรงได้ช่วยกันแก้ไขต่อไป

ครูหมี กล่าวต่อว่า เบื้องลึกในใจของครูหมีในฐานะครูที่เป็น “เรือจ้าง” มาทั้งชีวิต ยังคงความเป็นห่วงลูกศิษย์อยู่ตลอดว่าแม้เด็กจะเรียนจบออกไปแล้ว แต่เขาก็ยังไปไม่ถึง “ฝั่ง” คือ ปัญหาเด็กทุกคนที่กู้ กยศ.ไป ไม่มีใครอยากเบี้ยวหนี้เลย อย่างกรณีของตนในครั้งนี้หลังได้ติดต่อกับเด็กทั้ง 40 ราย ส่วนใหญ่คนที่จบไปมีงานทำมั่นคงหลายคนก็โทรศัพท์มาบอก และขอบคุณครูว่ามีงานทำที่ดีแล้ว บ้างก็ได้ไปต่างประเทศ และส่งเงินไปจ่ายหนี้ให้ กยศ.หมดแล้ว บางรายชำระตัดยอดหนี้หมดครั้งเดียวกว่า 380,000 บาท และหลายรายก็ชำระเรียบร้อยกันหมดแล้ว

แต่ส่วนปัญหาที่เด็กยังไม่จ่ายนั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะเด็กจบการศึกษาไปแล้วไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพรองรับ แล้วจะไปหาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ได้ เรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามประเมินผล โดยเฉพาะระบบการศึกษาไทย ณ วันนี้ ทุกฝ่ายต้องออกมาช่วยกันส่งเสริมเด็กที่จบการศึกษาไปแล้วให้มีอาชีพการงานที่มั่นคงขึ้น นั่นคือ ต้องช่วยเด็กให้ถึง “ฝั่ง” อย่างแท้จริง

ไม่เช่นนั้นแล้วจากนี้ไปปัญหาเด็กเบี้ยวชำระหนี้ กยศ.ที่ยังเป็นวิกฤตอยู่ขณะนี้จะทำอย่างไร เพราะต่อไปเชื่อว่าจะต้องมีกรณีของ “ครูวิภา”, “ครูหมี” เกิดขึ้นอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น หากเด็กกู้ยืมเงินเรียนไปแล้ว ไม่มีอาชีพการงานทำที่สามารถนำเงินมาส่งคืนได้ ก็จะกระทบต่อเด็กรุ่นต่อๆ ไป เป็นอยู่อย่างนี้

ครูหมี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่อยากฝากไปถึง กยศ.นั้น จากกรณีที่เด็กทั้ง 2 ราย ที่ตนค้ำประกันเงินกู้และขณะนี้ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถหาเงินมาส่งคืนได้ จุดนี้ทางภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีการคัดกรองหาแนวทางลงมาช่วยเหลือ ไม่ใช่ทาง กยศ.จะเน้นใช้กฎหมายบังคับด้านเดียว หากใครไม่ส่งเงินชำระหนี้ก็จ้างบริษัททนายมาดำเนินการบังคับตามกฎหมายทันที อย่างกรณี ลูกศิษย์ 1 ราย ตกงานขาดส่ง จากเดือนละ 1,800 บาท วงเงินเหลือกว่า 180,000 บาท พอมาถูกบริษัทสำนักงานกฎหมายที่ กยศ.จ้างมาเข้าไปดำเนินการบังคับใช้กฎหมายฟ้องร้องปรับให้มียอดส่งเพิ่มขึ้นทันทีเป็นเดือนละกว่า 3,800 บาท วงหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยก็เพิ่มไปอีกกว่า 300,000 บาท แล้วกลับมาถามว่าเด็กจะมีเงินมาจ่ายหนี้ได้ไหม คำตอบคือ ไม่ เพราะเขายังตกงานไม่เงินมีรายได้อยู่ดี และต้องเผชิญปัญหาหนักกว่าเดิม

สำหรับมาตรการที่อยากให้ กยศ.เพิ่มเติมเข้ามา คือ เป็นไปได้ไหมว่า หากเด็กที่กู้เงิน กยศ.เรียนจบไปแล้ว ไม่มีงานทำ มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีอาชีพการงานที่ไม่แน่นอน ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ไปแจ้งกับทาง กยศ.โดยมีหน่วยเจ้าหน้าที่โดยตรง เข้ามาช่วยผ่าวิกฤตในจุดนี้ เพื่อช่วยเป็นเวทีไกล่เกลี่ยการขอผ่อนผัน หรือพักชำระหนี้ตามเหตุสมควร เช่น ตกงาน ทำงานแบบสัญญาปีต่อปี ถูกเลิกจ้าง แล้วงานใหม่มีรายได้น้อยลง เด็กจะได้ไปประสานขอความช่วยเหลือจาก กยศ.ว่า จากเดิมส่งชำระหนี้เดือนละ 2,000-3,000 บาท เมื่อได้งานใหม่มีรายได้น้อยลงขอลดลงเป็นเดือน 1,000-2,000 บาท ในระหว่างรอหางานใหม่ที่ดีขึ้น และไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้แต่อย่างใด

จุดนี้ต่างหากที่จะทำให้เด็กที่เกิดปัญหาไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ตามกำหนด จะได้ไม่ต้องหนีหายออกไปจากระบบหรือไม่ยอมติดต่อกลับ และส่งผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันตามมาอีกไม่จบสิ้น

ทั้งนี้ ต้องขอความเห็นใจแทนเด็กนักเรียนทุกคนที่กู้ยืมเงิน กยศ.ด้วย เพราะเขาไม่มีเงินถึงได้กู้ยืมเรียน ด้วยความหวังว่าอยากเรียนจบการศึกษาสูงๆ เพื่อจะได้มีการงานที่ดี และไม่มีใครอยากเบี้ยวหนี้แน่นอน หากพวกเขามีเงิน มีงานทำที่ดีพอ

กยศ.จึงน่าจะมีหน่วยเจ้าหน้าที่ส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ใช่จ้างแต่บริษัททนายมาดำเนินการตามกฎหมายด้านเดียวเหมือนในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเรียกว่าส่งเด็กให้ถึงฝั่งได้อย่างไร กยศ.เอง ต้องส่งเสริมเด็กที่ขาดแคลนทุนการศึกษาให้ได้ไปถึงเป้าหมายและดำเนินการกองทุนให้เกิดประโยชน์กับเด็กไทยที่ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง จึงขอวอนฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กยศ.ช่วยรับไปพิจารณาในจุดนี้ด้วยซึ่งอาจจะช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสของการผ่าทางตันแก้ปัญหาหนี้ กยศ.ได้อย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น