เชียงราย - แม่น้ำโขงตอนบน แถบสามเหลี่ยมทองคำ ทะลักตามคาด ล่าสุดจุดผ่อนปรนแจมป่อง-พื้นที่การเกษตร จมแล้ว คนริมฝั่งชายแดนเชียงราย ตั้งแต่เชียงแสน-เชียงของ-เวียงแก่น ขนของหนีน้ำกันวุ่น
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักทั่วพื้นที่ตอนบนของ จ.เชียงราย ล่าสุดสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียราย ได้รายงานผลการตรวจวัดระดับน้ำโขง บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว พบว่ามีความลึกประมาณ 6.98 เมตร เพิ่มขึ้นกว่าวานนี้ (29 ก.ค.) ที่ลึกประมาณ 6.30 เมตร
ซึ่งกระแสน้ำโขง ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ได้ทะลักเข้าท่วมอาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่ประจำจุดผ่อนปรนแจมป๋อง บ้านแจม หมู่ 5 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น ที่ตั้งอยู่ทางเข้าออกท่าเรือ จนต้องย้ายขึ้นมาทำงานกันบนฝั่งแทนแล้ว
ส่วนที่จุดผ่อนปรนบ้านหาดบ้าย หมู่ 1 ต.ริมโขง อ.เชียงของ ก็ถูกน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ท่าเรือริมฝั่ง ทำให้พ่อค้าแม่ค้า และผู้ให้บริการเรือข้ามฟาก ที่สร้างอาคารชั่วคราวไว้ใกล้ท่าเรื อต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำขึ้นบนฝั่งเช่นกัน ขณะที่บริเวณผาถ่าน ซึ่งมีโขดหินสีดำปรากฎให้เห็น และเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อผาถ่านนั้น ขณะนี้ถูกน้ำท่วม จนเห็นแต่ศาล ที่บนโขดหินเหนือน้ำเท่านั้น
นอกจากนี้ พบว่า พื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่ง ซึ่งมักปลูกข้าวโพดและข้าวไร่ ตั้งแต่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ตลอดแนว ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง บ้านเรือนที่อยู่ในที่ลุ่มต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำกันถ้วนหน้า ขณะที่สภาพอากาศยังคงมีฝนโปรยลงมาเกือบตลอดทั้งวันและท้องฟ้ายังคงมืดครึ้ม
นายสุรนาท ศิริโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้ระดับน้ำโขง เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากฝนที่ตกลงมาเหนือน้ำ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี ทราบว่าปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงลดลงแล้ว จากวานนี้ (29 ก.ค.) มีฝนตกประมาณ 40 มิลลิเมตร ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 5 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้คาดว่าเมื่อมวลน้ำนี้ผ่านไป ระดับน้ำก็คงจะลดลงสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางอำเภอ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ฯลฯ ให้เฝ้าระวังร่วมกันแล้ว
ด้าน นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ได้เรียกประชุมผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านกำนันและฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับอุทกภัยริมฝั่งน้ำโขงแล้ว โดยได้กำหนดแผนเฝ้าระวังเป็น 3 พื้นที่คือ พื้นที่หมู่บ้านริมฝั่งที่อาจประสบภัยจากน้ำที่ขึ้นสูงแบบฉับพลัน ก็สั่งการให้เตรียมพร้อมเคลื่อนย้ายออกจากบ้านเรือน, พื้นที่ติดภูเขาให้ระมัดเรื่องดินสไลด์ และพื้นที่ติดลำห้วยหรือแหล่งน้ำภายในให้เฝ้าระวังเรื่องน้ำไหลหลาก
นายทัศนัย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง มีมากขึ้นคือ ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง สป.จีน ซึ่งทางอำเภอก็ได้ประสานงานกับทางกรมเจ้าท่าฯอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าดูปริมาณน้ำแล้ว