xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านหนองกระทุ่ม หัวหิน ค้านนายทุนทำเหมืองแร่โดโลไมท์ หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวบ้านหนองกระทุ่ม ประจวบคีรีขันธ์ ค้านการยื่นขอรับสัมปทานบัตรแร่โดโลโมท์ หวั่นได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งฝุ่น เสียงจากการขนส่ง

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ศาลากลางหมู่บ้านหนองกระทุ่ม หมู่ 6 ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายอุดมวิทย์ อโนวัล หนึ่งในผู้บริหารของผู้ประกอบการของสัมปทานบัตรแร่โดโลไมท์ ซึ่งเป็นของ นายวีระศักดิ์ พงษ์ภาวศุทธิ์ ในท้องที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 299 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา

ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านหนองกระทุ่ม หมู่ 6 ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน รวมทั้งนายกิตติชัย ศรีทองช่วย ปลัดอำเภอหัวหิน ตัวแทนนายอำเภอหัวหิน นายกอบต.หนองพลับ ตลอดจนสมาชิก อบต.หนองพลับกำนันตำบลหนองลับ ผู้ใหญ่บ้านหนองกระทุ่ม และผู้ช่วย ตลอดจนทหารชุดรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่อำเภอหัวหิน พระสงฆ์จากวัดหนองกระทุ่ม ต่อกรณีการขอยื่นรับสัมปทานบัตรแร่โดโลไมท์ เพราะหวั่นจะได้ผลกระทบต่อชุมชน โรงเรียน วัด ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ทั้งฝุ่น เสียงจากการขนส่งแร่และหิน

สืบเนื่องจากกรณี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านหนองกระทุ่ม ยื่นหนังสือคัดค้านไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรี เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ถึงการคัดค้านยื่นขอประกอบการบัตรแร่โดโลไมท์ ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ได้ตรวจสอบขั้นตอนการขออนุญาตของ นายวีระศักดิ์ พงษ์ภาวศุทธิ์ ผู้ยื่นขอรับสัมปทานบัตรแร่โดโลไมท์ แล้วพบว่าเป็นไปตามขั้นตอนทั้งการทำประชาคมในพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้ง และได้ผ่านความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่ และชาวบ้านในหมู่บ้านโป่งแย้ ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ตั้งแล้ว แค่ในปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาตบัตรสัมปทานแร่โดโลไมท์ แต่อย่างใด

โดย นายอุดมวิทย์ อโนวัล หนึ่งในผู้บริหารของผู้ประกอบการของสัมปทานบัตรแร่โดโลไมท์ ได้เดินทางมาชี้แจงว่าหลังจากดำเนินการยื่นขอสัมปทานรับบัตรแร่โดโลไมท์ ตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาต โดยแร่โดโลไมท์ที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ทางภาคการเกษตร เป็นสารปรับสภาพดิน และปรับโครงสร้างดิน ลดความเป็นกรด แก้ปัญหาดินเปรี้ยว ซึ่งจะมีการระเบิดหินวันละเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น หากจะมีการระเบิดเพิ่มเติมก็จะมีการแจ้งให้ชุมชนได้รับทราบ ซึ่งนอกจากจะได้แร่โดโลไมท์แล้ว จะได้หินขนาดต่างๆ อีกด้วย

สำหรับที่หวั่นว่าจะมีผลกระทบทั้งฝุ่น เสียงจากการขนส่ง ก็จะมีการดำเนินการตามหลักการในการป้องกันผลกระทบตามมาตรฐาน รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ซึ่งจะประกอบด้วยผู้นำชุมชนรอบโครงการ ตัวแทนชาวบ้าน ส่วนราชการ และผู้แทนผู้ประกอบการโครงการเมืองแร่โดโลไมท์ รวมทั้งจัดสรรเงินกองทุนให้แก่พัฒนาชุมชน นอกจากนั้น จะมีการจัดสรรค่าภาคหลวงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้อยละ 20 หรือประมาณ 170 ล้านบาท ตามค่าพิกัดค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 5 ของมูลค่าแร่ประมาณ 4,269 ล้านบาท

ด้าน นายสุรินทร์ บุญปรก กำนันตำบลหนองพลับ นายก อบต.หนองพลับ ผู้ใหญ่บ้านหนองกระทุ่ม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านหนองกระทุ่ม ส่วนหนึ่งยังคงคัดค้านโครงการเหมืองแร่โดโลไมท์ เพราะหวั่นเกรงว่าในชุมชน ชาวบ้าน โรงเรียน วัด จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ เพราะต้องมีการระเบิดหิน ทั้งละอองฝุ่น เสียง การขนส่ง และธรรมชาติของบริเวณเทือกเขาดังกล่าว

ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาแล้ว ถึงแม้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี จะทำหนังสือตอบกลับมาให้รับทราบถึงการดำเนินขั้นตอนต่างๆ แล้วก็ตาม ในส่วนพื้นที่ภูเขา ที่รายละเอียดแจ้งว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมนั้นก็อยากให้ทางภาครัฐมาตรวจสอบดูว่าใช่ข้อเท็จจริงหรือไม่ สัตว์ป่าก็มีหลายชนิด ทั้งหมีควาย เลียงผา เก้ง นกเงือก และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด

ขณะเดียวกัน นายกิตติชัย ศรีทองช่วย ปลัดอำเภอหัวหิน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตามที่ทางผู้ขอรับประทานบัตรเหมืองแร่โดโลไมท์ ซึ่งแจ้งว่าได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็อยากให้นำมาชี้แจงเปิดเผยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่บ้านหนองกระทุ่มด้วย ถึงแม้ทางผู้ขอรับสัมปทานจะอ้างว่าพื้นที่ขอรับสัมปทานบัตรเหมือนแร่จะอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลไร่ใหม่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ก็ตาม

แต่อย่าลืมไปว่าพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบตรงๆ ก็คือ หน้าเหมืองแร่คือ พื้นที่หมู่ 6 บ้านหนองกระทุ่ม ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน ทั้งสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น เสียง การขนส่งแร่และหินผ่านในชุมชนซึ่งมีทั้งโรงเรียน วัดในขณะที่พื้นที่ตั้งเหมืองแร่ตั้งอยู่ในท้องที่ของตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ นั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านของตำบลไร่ใหม่พัฒนา ถึง 3 กิโลเมตร

ด้าน นายกิตติวัฒน์ พงศ์ภาวศุทธิ์ ลูกชายของ นายนายวีระศักดิ์ พงษ์ภาวศุทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางเรายังไม่ได้รับอนุญาตการรับสัมปทานบัตรแร่โดโลไมท์ แต่อย่างใด อยู่ระหว่างขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งยื่นขอตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 9 ปี ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ยอมรับว่าผ่านขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา

โดยส่วนหนึ่งแร่โดโลไมท์ ที่ยื่นขอในพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการสำรวจและยืนยันว่าเป็นแร่ที่มีค่าแมกนีเซียมที่มีคุณภาพสูง กว่า 18 เปอร์เซนต์ และยอมรับว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ต้องมาชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านหนองกระทุ่ม ให้ได้รับทราบเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน โดยในส่วนของพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา ชาวบ้านโป่งแย้ มีความเข้าใจและเห็นชอบกับโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวเรียบร้อยไปแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น