xs
xsm
sm
md
lg

ชาวศรีราชาร่วมสะท้อนปัญหาและความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจาก อีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวศรีราชา ร่วมสะท้อนปัญหาและความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่จากโครงการ อีอีซี หลังสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำทีมลงรับฟังแนวคิดของผู้มีส่วนได้-เสีย


วันนี้ (25 ก.ค.) รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ พร้อมด้วย พล.ร.ท.บุญเรือง หอมขจร ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านความมั่นคง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 4 เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ให้การต้อนรับและมีผู้นำท้องถิ่นและผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่เข้าร่วม


นายสันติ กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดให้เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่จะสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ แต่ความเจริญที่เกิดขึ้นจะต้องดูศักยภาพในการรองรับความเจริญเติบโตด้วย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องมีแพทย์และพยาบาลอย่างเพียงพอ แต่ปัจจุบันในเขตแหลมฉบัง ยังคงมีเพียงโรงพยาบาลประจำตำบล ที่มีแพทย์และพยาบาลเพียงไม่กี่คน จนทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ไม่ทั่วถึง


เช่นเดียวกับ สถานีตำรวจ ที่ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่เพียงพอ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่จึงไม่ต้องการความเจริญที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการรองรับที่ดีเพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่มากกว่า


ด้าน นายกิตติศักดิ์ กิจโชคเจริญสกุล ประธาน กต.ตร.สภ.ศรีราชา ที่บอกว่า จ.ชลบุรี โดยเฉพาะ อ.ศรีราชา ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก แต่กฎระเบียบต่างๆ ที่จะตามมาในโครงการ อีอีซี ทั้งกฏหมายผังเมือง, กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม, ความมั่นคง และการอนุมัติให้ชาวต่างชาติอยู่ในพื้นที่ได้ เช่นเดียกวับกฏหมายด้านภาษี ที่ยกเว้นให้เฉพาะชาวต่างชาติแต่นักลงทุนไทยกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง


โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างถนนโอเวอร์พาส ที่หากก่อสร้างทับเส้นเดิมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรอย่างแน่นอน


“ปัจจุบันนี้การจราจรในพื้นที่ก็ติดขัดอยู่แล้ว หากจะก่อสร้างถนนโอเวอร์พาส แล้วเสร็จต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น นักลงทุนอาจจะยกเลิกโครงการหรือหนีออกนอกพื้นที่อย่างแน่นอน” นายกิตติศักดิ์ กล่าว


ส่วน นายสุวรรณ์ทอง คำภูมี เลขานุการชุมชนเทศบาลนครแหลมฉบัง กล่าวถึงปัญหาด้านการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่เชื่อว่าจะมีไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีฝนตกจะเกิดปัญหาน้ำระบายไม่ทัน จากการเกิดโรงงานอุตสาหกรรมและโครงการบ้านจัดสรรทับพื้นที่รับน้ำ ที่ในอดีตเคยเป็นท้องทุ่งและพื้นที่โล่ง


“เมื่อความเจริญเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่กังวลก็คือปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูล รวมถึงมลพิษทางอากาศ ซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะต้องวางนโยบายและแนวทางในการป้องกันโดยเร่งด่วน” นายสุวรรณ์ทอง กล่าว


ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านความมั่นคง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่ประชาชนในพื้นที่สะท้อนให้รับฟัง ตนเองและทีมงานจะนำกลับไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 9 ส.ค. นี้ โดยตนเองจะเป็นตัวกลาง เพื่อสะท้อนถึงความกังวลของคนในพื้นที่ให้กับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มาตรการในการป้องกันปัญหาหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น