xs
xsm
sm
md
lg

คอนโดยักษ์“วอเตอร์ฟรอนต์ ”วุ่นต่อ ทนายผู้ซื้อร้องตรวจพิสูจน์ที่ดินให้เคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - คอนโดยักษ์ “วอเตอร์ฟรอนต์” พัทยา ยังไม่จบ หลังศาลฎีกาพิพากษาการออกโฉนดที่ดิน “อาชาแลนด์” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กินพื้นที่เขตทะเล ทีมทนายผู้ซื้อเปิดแถลงหวั่นได้รับผลกระทบ ร้องหน่วยงานรัฐตรวจพิสูจน์เอกสารสิทธิที่ดินจริงจัง

วันนี้ (25 ก.ค.) นายเฉลิมวัฒน์ วิมุกตายนต์ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มผู้เสียหายจากการเช่าซื้อห้องชุดในอาคาร “วอเตอร์ฟรอนต์” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเทียบเรือบาลีฮาย พัทยาใต้ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้นำทีมทนายความ พร้อมกลุ่มผู้เช่าซื้อ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่สำนักงาน บริษัท แม็กนาคาร์ตาร์ จำกัด ถ.พัทยาใต้ เพื่อบอกเล่าถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาอาคารชุดของคอนโดมิเนียมหรู “วอเตอร์ฟรอนต์พัทยา” ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขอาคาร ว่าจะทำการรื้อถอนอาคาร หรือจะเปิดดำเนินการต่อ

รวมทั้งยังร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนที่ตั้งของโครง การอย่างเป็นรูปธรรม หลังที่ผ่านมา ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาศาลที่ 6504/250 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560 และได้มีการนัดฟังคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกโฉนดเลขที่ 89096 ให้แก่ บริษัท อาชาแลนด์ จำกัด เป็นการดำเนินงานโดยมิชอบ เนื่องจากมีการถมดินและหินเลยรอยกัดเซาะของน้ำทะเลและเขื่อน จึงถือเป็นการถมดินและหินลงไปในทะเล

โดยกรณีดังกล่าว จากการตรวจสอบสารบบที่ดิน เจ้าหน้าที่ย่อมทราบความเป็นมาของที่ดินดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่กลับพยายามรังวัดให้ตรงตามเนื้อที่ที่ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยมิได้คำนึงถึงแนวเขตที่ถูกต้อง จึงถือเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ 7 นาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 5 นายและเอกชน คือ บริษัท อาชาแลนด์ 2 ราย ศาลได้พิพากษาให้มีความผิดต่างกันโดยให้จำคุกระหว่าง 4-7 ปี โดยยกฟ้องจำเลยจำนวน 2 รายนั้น

นายเฉลิมวัฒน์ แจ้งว่า อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอาคาร วอเตอร์ฟรอนต์ โดยตรง แต่สุดท้ายก็จะมีผลถึงกันไม่ช้าก็เร็วนี้ และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้เช่าซื้อซึ่งปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของความเสียหาย เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการแท้จริงแล้วเป็นเอกสารสิทธิที่มาจาก ส.ค.1 เลขที่ 93 ของ นายสัมฤทธิ์ ศิลปะมงคล ซึ่งมีการแจ้งเรื่องขอออกเอกสารสิทธิไว้ตั้งแต่ปี 2498 ในเนื้อที่จำนวน 2.2.16 ไร่ ก่อนจะมีแยกออกเป็น น.ส.3 จำนวน 5 แปลง และแบ่งขายให้ บ.อาชาแลนด์ 2 แปลง และต่อมามีการออกเป็นโฉนด 5 แปลง โดยขายให้กับ บริษัทบาลีฮาย หรือโครงการวอเตอร์ฟรอนต์อีกจำนวน 2 แปลง

“ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าการออกโฉนดของ บริษัท อาชาแลนด์ เป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ สุดท้ายหากยังไม่มีการตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิทั้งหมด และยังปล่อยให้เรื่องคาราคาซังจนหากมีการฟ้องร้องและตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ และสมมติว่า ที่ดินที่ตั้งของโครงการวอเตอร์ฟรอนต์มีพื้นที่บางส่วนที่ได้มาโดยมิชอบ เรื่องนี้ย่อมส่งผลถึงความเสียหายของกลุ่มผู้ซื้อที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง รวมทั้ง บริษัท บาลีฮาย เจ้าของโครงการด้วย เพราะทั้ง 2 ส่วนซื้อมาตามขั้นตอนและหลักการตามกฎหมายทุกอย่าง”

หน่วยงานภาครัฐ จึงควรให้ความสนใจเข้ามาตรวจสอบ และหาผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนเกินซึ่งขณะนี้เมืองพัทยาได้ออกคำสั่งให้มีการรื้อถอนไปแล้วในพื้นที่ประมาณ 4,000-5,000 ตารางเมตร แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

“ที่ผ่านมา ทาง บริษัท บาลีฮาย ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แต่ทางผู้เช่าซื้อคัดค้านไว้ กระทั่งมีการถอนเรื่องออกมาและก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร จนเมืองพัทยา ต้องออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารส่วนเกิน แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ปัจจุบันผู้เช่าซื้อจึงเตรียมรวบรวมเอกสารสำคัญในการเรียกร้องความเสียหายจากทาง บริษัท บาลีฮาย ซึ่งคงจะมีการฟ้องร้องผ่านศาลจังหวัดพัทยาและหากมีความคืบหน้าอย่างไรก็จะได้แถลงการณ์ต่อไป” นายเฉลิมวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายปัญฑวัฎฐ์ พิมสกุล ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้ตั้งข้อสงสัยว่าที่ดินแปลงดังกล่าว มีการขอออกเอกสารสิทธิเพื่อทำประโยชน์แบบ ส.ค.1 ในปี 2498 ในพื้นที่ 2.2.16 ไร่ ก่อนจะมาขอออกเป็น น.ส.3 เลขที่ 93 ม.10 ต.นาเกลือ เมื่อปี 2499 แต่กลับกลายเป็นว่าที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 5.2.51 ไร่ และไม่นานในปี 2500 ก็มีการขอแบ่ง น.ส.3 อีก 2 แปลง คือ แปลงที่ 388 และ 389 ซึ่งขายให้กับ บริษัท อาชาแลนด์ จนมีขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 83096 ในปี 2541 ซึ่งมีที่ดินรวมกว่า 3 ไร่จนมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่าเป็นการออกโดยมิชอบ ขณะที่ น.ส.3 อีก 3 แปลงคือเลขที่ 93,442 และ 525 ที่ขอออกในปี 2506 เป็นพื้นที่รวมอีก 1.3.93 ไร่ จึงหน้าแปลกใจว่าเหตุใดที่ดินทั้งหมดจึงมีการเปลี่ยนแปลงขนาดมาโดยตลอด ทั้งที่เอกสารสิทธิเดิมมีที่ดินรวมเพียง 2 ไร่เศษเท่านั้น







กำลังโหลดความคิดเห็น