พิษณุโลก - อดีตรองประธานสภานิสิต สอนมวยผู้บริหาร ม.นเรศวร ผ่านเฟซบุ๊ก คนอ่านตรึม..สื่อติดต่อขอสัมภาษณ์ มน. แต่ไร้เสียงตอบรับ หลังโหนกระแส 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง เสนอให้ทุนเรียนฟรี ป.ตรี-โท-เอก จนเจอกระแสโซเชียลฯ ตีกลับ
วันนี้ (13 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีผู้นำหนังสือเปิดผนึกจากสำนักอธิการบดี กองกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 10 ก.ค. 61 เรื่องการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย จำนวน 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนถึง 17 วัน ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่าจะให้ทุนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ปริญาโท หรือปริญาเอก ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมสนับสนุนการศึกษาให้ทุกคนตลอดการศึกษา และมอบหมายให้นางศิริมาศ เสนารักษ์ ผู้อำนวยการกองกลาง เป็นผู้ประสานงานในรายละเอียดต่อไป
กระทั่งต่อมามีผู้คนในโลกออนไลน์พากันตั้งคำถามถึงความเหมาะสมหรือไม่ ที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจะมอบทุนการศึกษาครั้งนี้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด นพ.ณัฎฐชัย รำเพย อดีตรองประธานสภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร, อดีตรองประธานคณะกรรมการดูแลการรับน้องและประชุมเชียร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, อดีตกรรมการองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร และอดีตที่ปรึกษาสโมสรนิสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โพสต์ความเห็นส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวในเฟซบุ๊กชื่อว่า Natthachai Ramphoei โดยระบุข้อความว่า
“เรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เคารพ จากที่มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผมรักไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าจะให้ทุนการศึกษาทีมหมูป่าจนจบปริญญาเอกนั้น ผมจึงขอเขียนข้อความนี้โดยคาดหวังว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะได้เห็น (หลายๆ ท่านเป็นเพื่อนใน facebook กับผม) และตระหนักถึงปัญหาจากเหตุการณ์ข้างต้นโดยทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเล็กๆ ของผมแต่เพียงผู้เดียว
1. ผมเห็นว่าน้องๆ หมูป่า เป็นผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสมควรได้รับการเยียวยา (น้องๆ หมูป่าเข้าไปในถ้ำช่วง มิ.ย. แต่ถ้ำปิดให้ท่องเที่ยวเดือน ก.ค.) 2. จากข้อ 1 ย่อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเยียวยาน้องๆ หมูป่าอยู่แล้ว มิใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวรในบทบาทหน้าที่นี้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถร่วมแสดงน้ำใจเยียวยาน้องๆ หมูป่าอย่างเหมาะสมได้ให้เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัย 3. การให้ทุนการศึกษาควรพิจารณาจากผลงาน ฐานะทางบ้าน ผลการศึกษา และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีแนวทางมีชัดเจนในการพิจารณาทุนการศึกษา ไม่ควรใช้การให้ทุนการศึกษาเป็นการเยียวยาผู้ประสบภัยธรรมชาติอันไม่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาแต่อย่างใด
4. มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในค่านิยมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของวิชาการ ดังนั้นหากมีความประสงค์จะทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ หมูป่าอาจทำได้ในแง่มุมที่เหมาะสม เช่น การเชิญมาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ หรือโครงการใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูสภาพกายและใจของน้องๆ หมูป่าหลังการเผชิญเหตุร้าย เป็นต้น 5. ผมขอเรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรตรงๆ โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนา (อธิการบดี) ที่เคารพ ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของท่านเป็นเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อครหาต่อมหาวิทยาลัยนเรศวรไปในวงกว้าง จึงขอให้ท่านออกมาชี้แจงเหตุผล “อันเหมาะสม” ของเรื่องดังกล่าวต่อสังคมและแสดงรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จึงเรียนมาเผื่อโปรดพิจารณา
“ผมรัก มน. คณาจารย์ทุกท่านเสมอ บทความนี้เป็นเพียงฉบับร่าง ผมจะร่างเอกสารส่งตามไป มน.นะครับ”
ทั้งนี้ แม้ในวันนี้อาจมีประเด็นที่น่าตำหนิตักเตือน แต่ตลอด 28 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวรก็ได้สร้างคุณประโยชน์และผลิตบัณฑิตคุณภาพให้กับประเทศไทยอยู่เสมอ และผมยังคงเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวมีผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นทำนองที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ มน. และเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง พร้อมติดต่อสอบถามไปยังคณะผู้บริหารของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร หรือผู้ที่มีหน้าที่รับมอบหมายในครั้งนี้ตามชื่อที่ระบุอยู่ในหนังสือเปิดผนึก แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ทราบเพียงว่าผู้บริหารติดราชการอยู่ต่างจังหวัด
ขณะที่สื่อมวลชนใน จ.พิษณุโลก ต่างรอคอยว่าทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจะออกมาชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้นกับสังคมหรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนต่อไป