กาญจนบุรี - ชาวกาญจน์กว่า 7 หมื่นคน ร่วมลงชื่อทวงคืนโรงงานกระดาษ ขณะที่ อบจ.ประกาศความพร้อม เสนอขอใช้ที่ราชพัสดุ จัดทำเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์
ความคืบหน้ากรณีที่ ชาวเมืองกาญจนบุรี กว่า 2,000 คน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์เรียกร้องของทวงคืนโรงงานกระดาษ กาญจนบุรี ให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรี นั้น
ล่าสุดวันนี้( 30 มิ.ย.)นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำหนังสือที่ กจ 0023.3/11902 ถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เรื่องการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี
มีใจความว่า ตามที่ กรมธนารักษ์ ได้ให้บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด เช่าที่ดินที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.194 (แปลงโรงงานกระดาษ) ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 และที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ได้มีมติให้จังหวัดกาญจนบุรี ประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันพิจารณาแนวทาง และรูปแบบพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว แล้วเสนอให้กรมธนารักษ์พิจารณานั้น
จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการประชาคม ทั้งหมด 959 หมู่บ้าน 98 ตำบล 13 อำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี มีผู้เข้าร่วมประชาคมทั้งสิ้นกว่า 70,000 คน มีมติเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด คือ ให้โรงงานกระดาษเป็นสวนสาธารณะ ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเมืองกาญจนบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ชาวเมืองกาญจนบุรี จำนวนกว่า 2,000 คน
ได้ร่วมกันเดินรณรงค์เรียกร้องของทวงคืนโรงงานกระดาษให้กลับมาเป็นพื้นทีสาธารณประโยชน์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 45 (9) พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 17 (28) ประกอบกฎกระทรวง (2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ข้อ 12 มีอำนาจหน้าที่และสามารถดำเนินการจัดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะได้
ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเป็นผู้เสนอขอใช้ที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.194 เนื้อที่ประมาณ 69 - 2 - 34 ไร่ เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี ตามความต้องการของชาวเมืองกาญจนบุรีอย่างแท้จริง ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษากลุ่มภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์ พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคม จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี นายจรัล ศศะสมิต เป็นผู้ประสานงาน ได้ยื่นหนังสือต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง พร้อมด้วย พลเอก องอาจ พงษ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา พลเอก สกล ชื่นตระกูล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน พลเอก สุชาติ หนองบัว โฆษกคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน และนายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน โฆษกคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เพื่อขอให้รัฐบาลได้พิจารณายกเลิก พ.ร.บ.ร่วมทุนตลอดจนบูรณะและพัฒนาพื้นที่เขตโบราณสถานเมืองเก่าสมัยรัชกาลที่ 3 และพื้นที่โรงกระดาษกาญจนบุรี เป็นพื้นที่สาธารณะและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” สืบเนื่องจากกรมธนารักษ์ ได้ผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่โรงงานกระดาษ ในพื้นที่ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 69 ไร่ เข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุน ทำให้ชาวกาญจนบุรีเกิดความวิตกกังวลว่า หากมีการประมูลที่ดิน และอาคารบริเวณโรงงานกระดาษมูลค่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ อาจถูกเปลี่ยนแปลงเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า หรือแม้แต่อาคารพาณิชย์
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตโบราณสถานมีกำแพงเมืองเก่า อายุกว่า 187 ปี มีคุณค่าและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกาญจนบุรีเป็นอย่างมาก โรงงานกระดาษที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกำแพงเมือง ล้วนแต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นรอยต่อแห่งยุคสมัย ที่สำคัญส่งผลต่อความรู้สึกที่ผูกพันของชาวกาญจนบุรีด้วยความสำคัญดังกล่าว เครือข่ายภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์ จึงขอเสนอแนวทาง ดังนี้คือ
1.ขอให้ยุติการนำโรงงานกระดาษกาญจนบุรีเข้าสู่ การประมูล ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2.ขอให้ยกพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ 'ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์' ซึ่งจะมีพิพิธภัณฑ์เมืองเป็นหัวใจของพื้นที่ที่จะเล่าเรื่องราวและบทบาทความสำคัญของกาญจนบุรีในหลากหลายมิติ
โดยแนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการพื้นที่ควรให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงจังและสนับสนุนการสานพลังของสามฝ่ายคือภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยในขณะนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้แสดงเจตจำนงจะขอใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์เพื่อวางแผนและดำเนินการการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป