ราชบุรี - อ.ราชบุรี ปิดป้ายช่วงหน้าฝนห้ามเข้าเด็ดขาดบริเวณหน้าถ้ำพระยาปราบ หลังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี สั่งทั้ง 10 อำเภอสำรวจถ้ำด่วน หลังเกิดเหตุนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี ติดภายในถ้ำหวั่นเกิดเหตุแบบเดียวกัน
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง จ.ราชบุรี ได้เดินทางไปสำรวจบริเวณหน้าถ้ำพระยาปราบ ที่หมู่ 6 ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี หลังได้รับรายงานว่าถ้ำดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศลักษณะคล้ายกับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่มีกลุ่มนักฟุตบอลเข้าไปติดอยู่ภายในหลายวัน ยังไม่สามารถช่วยเหลือนำออกมาได้
โดยทางนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้นายอำเภอทุกแห่งเร่งสำรวจถ้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน หวั่นเกรงจะเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ได้ร่วมกันจัดทำป้ายมีข้อความว่า “ ฤดูฝนหรือฝนตกหนัก ห้ามเข้าถ้ำเด็ดขาด ” มาติดตั้งไว้บริเวณริมถนนทางขึ้นถ้ำพระยาปราบ ซึ่งต้องเดินเท้าจากริมถนนขึ้นไปบริเวณปากถ้ำประมาณ 30 เมตร เมื่อถึงปากถ้ำจะเป็นทางลาดลงไปลักษณะค่อนข้างชัน บริเวณปากทางเข้ามีแผงเหล็กเป็นตะแกรงขวางทางปากถ้ำไว้ เพราะปากถ้ำมีน้ำขังไม่ให้ใครลงไปในถ้ำ
นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง เปิดเผยว่า กรณีที่เป็นข่าวถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ทุกอำเภอสำรวจ ถ้ำ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่จะเกิดอันตรายในฤดูน้ำหลากได้ ซึ่งเขตพื้นที่ อ.เมืองนั้นได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสำรวจถ้ำพบว่ามีถ้ำพระยาปราบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับถ้ำที่เกิดเหตุที่ จ.เชียงราย ลักษณะเป็นทางเข้าเล็กแคบ ๆ ในถ้ำเป็นห้องโถง
โดยถ้ำลักษณะนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของนักผจญภัย ซึ่งในฤดูแล้งสามารถเข้าไปในถ้ำได้สะดวกพอสมควร แต่หากเป็นช่วงหน้าฝน บริเวณหน้าปากถ้ำนั้น มีน้ำอยู่เต็มถ้ำ ซึ่งถ้าหากเข้าไปแล้วน้ำแห้ง และมีฝนตกหนักขึ้น อาจจะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่ จ.เชียงรายได้ ทาง อบต.เกาะพลับพลาจึงได้จัดทำป้ายแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งฤดูฝน หรือนอกฤดูฝนที่เกิดฝนตกหนัก ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด
นายธวิทย์ กุศลอภิบาล อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพลับพลา เปิดเผยว่า ถ้ำพระยาปราบ เป็นถ้ำในสมัยโบราณ ที่อยู่คู่กับเขาพระยาปราบนานแล้ว ต่อมามีคนเข้าไปสำรวจและออกมาบอกกับชาวบ้านว่าข้างในถ้ำมีลักษณะสวยงามมาก สมัยตนเองยังเป็นเด็กๆ มีพระได้เข้าไปอยู่ในถ้ำ รวมถึงชาวต่างประเทศได้เข้าไปสำรวจพร้อมกับเก็บตัวแมงมุมที่อาศัยอยู่ในถ้ำใส่กล่องกลับไป แล้วยังบอกว่าถ้ำที่นี่สวยงามมีหินงอกหินย้อย ภายในถ้ำจะมีห้องโถง น้ำไหลผ่าน
ส่วนใหญ่จะเข้าไปในช่วงฤดูแล้งกัน โดยล่าสุดมีการเข่าไปสำรวจ เมื่อปี 2543 หลังจากนั้น จังหวัดได้มีโครงการให้นำเสนอเป็นแหล่งท่องเที่ยวในสมัยนั้น พร้อมสำรวจภายในถ้ำมาแล้ว ซึ่งหากคำนวณระยะทางเข้าไปในถ้ำจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่โยธาของ อบต.เกาะพลับพลา คาดว่ามีความยาวประมาณ 250 เมตร และจะมีห้องโถงขนาดกว้าง 50 คูณ 50 เมตร จะมีซอกซอยต่างๆให้เดินได้อีก ช่วงหน้าฝนจะไม่ค่อยมีคนเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีผู้ใหญ่บ้านนำป้ายมาติดเตือนประชาชนในพื้นที่ไม่ให้เข้าไปด้านใน เกรงจะเกิดอันตรายได้