ราชบุรี - ลุงจิตอาสาทำดีเพื่อแผ่นดิน นำต้นกล้าเอื้องมณีฉาย กล้วยไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์กลับคืนสู่ถิ่นที่ยอดเขากระโจม เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
วันนี้ (19 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายไชโย สุวรรณ์ นักเขียนเรื่องป่า นามปากกา “บุหลัน รันตี” จากการเดินสำรวจพื้นป่าชายแดนภาคตะวันตกมากว่า 10 ปี เพื่อนำเรื่องราวประสบการมาเขียนหนังสือ พบว่ากล้วยไม้เอื้องมณีฉาย ที่มีต้นกำเนิดในป่าดิบชื้นบนยอดเขากระโจม เทือกเขาตะนาวศรี ความสูงจากระดับน้ำทะเล กว่า 1,000 เมตร ติดชายแดนไทย เมียนมาร์ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่เหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย และใกล้จะสูญพันธุ์
แต่ยังมีกลุ่มอนุรักษ์เอื้องมณีฉายของ นายสีวรรณ อุดปา อายุ 62ปี หรือลุงวร จิตอาสาทำดีเพื่อแผ่นดิน ได้นำกิ่งพันธุ์เอื้องมณีฉายที่ขึ้นเกาะติดกับต้นไม้ที่หักโค่นล้มลงมาตามธรรมชาติ แล้วนำกลับมาทดลองเพาะในแปลงจนสำเร็จ และจะนำกลับคืนสู่ป่าถิ่นกำเนิดจำนวนกว่า 200 ต้น ได้ร่วมกับกลุ่มจิตอาสาสหายสายป่า และกลุ่มเพื่อน “บุหลัน” กว่า 50 คน ร่วมทำกิจกรรม“พากล้ามณีฉายกลับบ้าน”
นายสีวรรณ อุดปา กล่าวว่า ตนเองได้ไปเข้าอบรมดับไฟป่าและเป็นจิตอาสาทำดีเพื่อแผ่นดิน จนเกิดมีจิตสำนึกในการรักษ์ป่า และสังเกตเห็นว่ากล้วยไม้พันธุ์นี้มันหายไปทุกปี ถึงคนไทยไม่เอา ก็มีชาวต่างชาติ มาเอาไป ซึ่งไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ เป็นคนมาเอาไป ในตอนนี้บนยอดเขากระโจมมีจำนวนเยอะที่สุด ตนเองก็เคยขับรถไปดูฝั่งประเทศพม่าก็ยังมีน้อยกว่าที่นี่
จึงได้มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ โดยจะตอนเป็นข้อๆ แล้วจึงเอามาเรียงโดยใส่ตะกร้าสี่เหลี่ยมแล้วจึงมาเพาะไว้ จนเป็นต้นแข็งแรงจึงจะสามารถนำขึ้นไปปลูกได้ เนื่องจากไม่อยากให้สูญพันธุ์จึงได้หาวิธีและอยากจะให้มีคนมาแทน เนื่องจากตนเองอายุมากแล้วอีกไม่กี่ปีก็คงจะทำต่อไม่ไหว และพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีให้กับทุกคนที่จะเข้ามาทำงานอนุรักษ์ตรงนี้
นายไชโย สุวรรณ์ นักเขียนเรื่องป่า นามปากกา “บุหลัน รันตี” กล่าวว่า เอื้องมณีฉายที่ได้มาทำกิจกรรมนำต้นกล้าคืนสู่ป่าเขากระโจม เอื้องมณีฉายเป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งหลังจากที่สืบค้นมาน่าจะมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย หลังจากติดตามเอื้องมณีฉายมาประมาณ 10 ปี ไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมีแต่ลดจำนวนอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ สาเหตุหลักๆ เกิดจากคนนำลงไปเลี้ยงเอง ไปขาย หรือนำไปฝากคนอื่น ๆ บ้าง
อีกส่วนหนึ่งคือภูมิอากาศที่เกิดจากความแห้งแล้งทำให้ต้นไม้ที่เอื้องมณีฉายเกาะอาศัยตาย ซึ่งในปัจจุบันเปรียบเทียบกับ 4-5 ปีย้อนหลัง ลดลงถึง 60 % ที่เหลืออยู่ตอนนี้ประมาณ 40% ได้ สำหรับกิจกรรมวันนี้เราได้รวมตัวกันของกลุ่ม สหายสายป่า กลุ่มจากเพชรบุรี และเพื่อน ๆ จากกลุ่มบุหลัน มาร่วมกันทำกิจกรรม หลังจากที่มีการนำกล้าเอื้อยมณีฉายมาทดลองเพาะเลี้ยงไว้ 7-8 ปี
จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงได้นำไปคืนสู่ป่าที่เดิมที่เคยอยู่ เพื่อต่อยอดให้เอื้อยมณีฉายมีอายุยืนยาวมากขึ้น และขยายจำนวนมากขึ้น เพราะต้นเก่าที่มีอยู่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ประกอบกับเป็นกล้วยไม้หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย ในส่วนของกิ่งที่หักลงมาจากลม หรือจากต้นไม้ที่หักโค่นลง ทุกคนช่วยกันนำกล้ากล้วยไม้ของมณีฉายและกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลับคืนสู่ต้นไม่ไปปลูกเลี้ยงใหม่เพื่อต่อชีวิต
นายจิระเดช วันพรม กล่าวว่า ตนเองเป็นตัวแทนของกลุ่มสหายสายป่าและเพื่อนๆ อีกหลายกลุ่มมาร่วมกัน และรู้สึกดีใจที่จากบางคนไม่รู้จักว่าเอื้อยมณีฉายคืออะไรไม่เคยเห็นและไม่รู้ว่าจะสูญพันธุ์ แต่พอมาได้ทำกิจกรรมในครั้งนี้จึงทราบว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีที่เขากระโจมนี้ที่เดียวและใกล้จะสูญพันธุ์เป็นแหล่งสุดท้ายของโลก
วันนี้จึงได้นำเอากล้าที่เพาะพันธุ์ไว้ประมาณ 200 กล้าช่วยกันนำไปติดตามต้นไม้ตามช่องลม ตามที่ที่เอื้องจะเกิดขึ้นได้ ถึงแม้จะฝ่าอุปสรรค มามากมายกว่าจะถึง แต่ก็รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ และภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์นี้ไว้ถึงแม้ต่อไปในอนาคต จะสูญพันธุ์หรือไม่แต่ในวันนี้เราได้ทำและช่วยกันที่จะอนุรักษ์ให้มันอยู่นานที่สุดอยู่คู่กับที่นี่
น.ส.วิบูลย์ลักษ์ ปะภาวโก กล่าวว่ากิจกรรมในวันนี้สืบเนื่องจากเคยมาขุดเอื้องมณีฉายไปเพาะแล้วปีหนึ่ง ในปีแรกเอื้องก็จะมีเยอะยังดูสวยอยู่ พอเข้าปีที่ 2 ก็มีจำนวนลดลง จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่จะอนุรักษ์และอยากจะเผยแพร่ให้คนอื่นได้รู้และช่วยกันอนุรักษ์พอเข้าปีที่ 3 จึงได้มีกิจกรรมนี้ขึ้น แล้วได้มีหลายๆ กลุ่มเข้ามาช่วยกันเผยแพร่และอนุรักษ์ให้ยังคงอยู่ เพราะเนื่องจากมีที่นี่ที่เดียว ซึ่งจากที่ทุกคนมารวมตัวกันนั้นทำให้รู้สึกอบอุ่นและทำให้คนที่ดูแลและรักษามีกำลังใจ
สำหรับกล้วยไม้เอื้องมณีฉาย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลักษณะคล้ายช้างงาเดียว แต่ขนาดเล็กกว่า ยาวได้ถึง 50 ซ.ม.ใบรูปรีแคบแกมขอบขนาน กว้าง2.5-4 ซ.ม.ยาว 10-18 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อสั้นที่ปลายยอดมีจำนวน 3-5 ดอก สีม่วงชมพูบานเต็มที่กว้าง 5-6 ซ.ม.กลีบปากมีขนสีเหลือง ขอบหยักเป็นคลื่น พบมากตามป่าดิบทางภาคตะวันตก ออกดอกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน (แหล่งอ้างอิง//หนังสือพรรณไม้เมืองไทย กล้วยไม้ 4)