ศูนย์ข่าวศรีราชา - พร้อมแล้ว !! สวนผลไม้กว่า 170 สวน ตลอดระยะทาง 5 กิโลเมตร บนถนนสายยายดา ต.ตะพง อ.เมืองระยอง เตรียมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศที่จะเดินทางเข้า ช็อป ชิม ชิว ในงาน “เทศกาลผลไม้และของดี จ.ระยอง - งานถนนผลไม้สไตล์ตะพง ประจำปี 2561” ระหว่างวันที่ 16-24 มิ.ย.นี้ ชูไฮไลต์ของดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ เชื่อเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ จ.ระยอง ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการจัดงาน “เทศกาลผลไม้และของดี จ.ระยอง - เทศกาลถนนผลไม้สไตล์ตะพง” ที่จะมีขึ้นที่ ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ระหว่างวันที่ 16-24 มิ.ย.นี้ โดยมี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด และหลายหน่วยงานในพื้นที่ร่วมให้การสนับสนุน ซึ่งไฮไลต์ของงานนอกจากจะอยู่ที่การนำผลไม้จากสวนต่างๆ ในพื้นที่ออกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่บริเวณตลาดผลไม้ ต.ตะพง แล้ว "กลุ่มปรับปรุงคุณภาพผลไม้ตะพง" ที่เกิดจากการรวมตัวของชาวสวนผลไม้ใน ต.ตะพง กว่า 170 สวน ยังพร้อมที่จะเปิดสวนซึ่งตั้งอยู่ตลอดถนนสายยายดา ระยะทางยาว 5 กิโลเมตร ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมสวนผลไม้วิถีเกษตรอินทรีย์ และสัมผัสชีวิตชาวสวน รวมทั้งถ่ายรูปฟรี ควบคู่กับกิจกรรมไหว้พระ-เที่ยวทะเล ที่หน่วยงานท้องถิ่นเตรียมไว้ต้อนรับ
นายทวีป แสงกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะพง ในฐานะประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพผลไม้ตะพง เผยว่า“เทศกาลผลไม้และของดี จ.ระยอง - งานถนนผลไม้สไตล์ตะพง ” ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 3 หมื่นคน อีกกว่า 40% และเชื่อว่าจะมีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวและการขายผลไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท
“ ปีนี้กระแสทุเรียนมาแรง จึงเชื่อว่าจะมีทั้งผู้มาเยือนและรายได้ตลอดระยะเวลาการจัดงานมากขึ้น และทางกลุ่มฯยืนยันว่าจะสามารถป้อนทุเรียนให้นักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ ที่สำคัญในปีนี้ยังมีการเปิดสวนทุเรียนกว่า 170 สวน ตลอดระยะทาง 5 กิโลเมตรบนถนนสายยายดาให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และเราก็ได้กำชับสมาชิกว่าต้องดูแลนักท่องเที่ยวให้ดี พร้อมได้จัดมัคคุเทศก์น้อยให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว เพื่ออธิบายถึงการดูแลผลผลิตแต่ละชนิด รวมทั้งสถานการณ์ราคาที่พุ่งสุงขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใด และยังจัดรถรางบริการตามสถานีต่างๆ ไม่น้อยกว่า 8 คัน”
นายทวีป กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจาก ทุเรียนที่นักท่องเที่ยวจะสามารถรับประทานได้อย่างเต็มที่แล้ว,เงาะ,มังคุดและลองกอง ยังมีปริมาณเพียงพอ เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละสวนต่อวัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเป็นข่าวดัง โดยผลไม้ที่จะนำมารองรับและจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ต้องเป็นผลไม้ที่มาจากสวนในกลุ่มฯ เท่านั้น เพราะสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้
สำหรับ “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพผลไม้ตะพง” ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 คน และมีสวนผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพการผลิตผลไม้ ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี กว่า 170 สวน จากจำนวนสวนผลไม้ที่มีในพื้นที่กว่า 200 สวน ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลผลิตจากกลุ่มฯ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศ จนไม่จำเป็นต้องส่งขายต่างประเทศ และไม่จำเป็นต้องส่งผลผลิตให้ล้งต่างๆ เพื่อนำไปขายต่อให้กลุ่มอาลีบาบา แต่อย่างใด
“ที่ผ่านมาเราได้จัดอบรมเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ทั้งในเรื่องการจ่ายปุ๋ยและการให้ยาที่เป็นน้ำหมักชีวภาพสำหรับฉีดต้นทุเรียนเพื่อกระตุ้นการออกดอกและผล รวมทั้งต้นมังคุด เพื่อกระตุ้นให้มีการเปิดตาและเปิดดอก ตามวิถีธรรมชาติ และใส่ปุ๋ยชีวภาพและน้ำหมักตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ แต่ก็มีบางสวนที่ยังไม่เชื่อมั่นในการทำงานของกลุ่มเรา เพราะเขายังเชื่อในการผลิตแบบเดิมๆ และไม่อยากเสียเวลามาอบรม แต่สุดท้ายเราก็เชื่อว่าทุกสวน จะต้องเข้าร่วมโครงการทั้งหมด เพราะเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าในระยะเวลา 17 ปีที่พยายามดำเนินการมา มันสำเร็จ และสามารถกำหนดราคาขายผลผลิตได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ”
นายทวีป เผยอีกว่าทางกลุ่มฯ ในฐานะท้องถิ่น พยายามหาตลาดในการกระจายสินค้าภายในประเทศด้วยการประสานไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อนำผลผลิตส่งไปขายในกรณีที่เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด จนทำให้ในขณะนี้สามารถส่งผลผลิตเข้าขายในห้างสรรพสินค้า และในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร โดยไม่ต้องใช้พ่อค้าคนกลาง และทางกลุ่มฯจะตรวจสอบคุณภาพผลผลิตแต่ละสวนเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจะไม่อนุญาตให้มีการตัดทุเรียนอ่อนออกจำหน่าย และหากมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาเหมาสวนในราคาที่เหมาะสม ก็จะไม่ยินยอมให้พ่อค้าคนกลางเข้าตัดผลไม้โดยพละการ แต่จะต้องตัดในระยะเวลาที่ครบกำหนดเท่านั้น เพื่อรักษาชื่อเสียงของผลไม้ตะพง
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ยังเริ่มใช้สติ๊กเกอร์ติดที่ขั้วผลผลิต เพื่อบอกระยะเวลาของการตัดทุเรียนจากต้น รวมทั้งผลไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบว่าผลไม้จากกลุ่มฯ ดูแลคุณภาพเป็นอย่างดี และผู้บริโภคยัง สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลผลิตแต่ละชนิดที่นำออกขายมากจากสวนใด
“ ในปี 2562 เรามีเป้าหมายว่าจะผลิตผลไม้คุณภาพให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งในปีนี้ ทุเรียน ต.ตะพง ที่จะออกสู่ตลาดมีประมาณ 5-6 พันตัน โดยมีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดแล้วกว่า 2 พันตัน และในช่วงกลางเดือน มิ.ย.ก็จะเริ่มมีผลผลิตออกมาก ส่วนเงาะ ,ลองกอง และมังคุด คาดว่าผลผลิตจะออกน้อยกว่าปีก่อน เพราะในช่วงออกดอกชาวสวนต้องเจอพายุฝน ทำให้เงาะไม่ติดลูก และในอนาคตเรายังมีแผนที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิต และรูปแบบการตลาดให้ได้แบบทุเรียนนนท์ ที่ไม่เน้นการผลิตจำนวนมาก แต่เน้นคุณภาพเพื่อกำหนดราคาได้อย่างชัดเจน”
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะพง ในฐานะประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพผลไม้ตะพง ยังวางแผนไกลไปถึงการเปิดสวนผลไม้ของสมาชิกภายในกลุ่มที่มีกว่า 170 สวน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยังยืน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าเที่ยวชมผลผลิตภายในสวน และได้เลือกซื้อสินค้าจากสวนโดยไม่ต้องนำผลผลิตออกไปจำหน่ายยังพื้นที่ภายนอก เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการซื้อผลไม้ในเชิงส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย