xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.จับมือศิลปินเชียงราย งัดศิลปะสื่อจุดยืนป้องแม่น้ำกก-อิง-โขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำอิงจับมือศิลปินเชียงราย เปิดห้องโชว์ศิลปะ “ภูมิทัศน์ที่มีชีวิต อิง กก โขง”


สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงและเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำอิงได้ร่วมกับขัวศิลปะ เชียงราย และภาคีเครือข่ายรวม 14 องค์กร จัดนิทรรศการศิลปะ "ภูมิทัศน์ที่มีชีวิต อิง กก โขง" ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ขัวศิลปะ เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย โดยจัดแสดงภาพจิตรกรรมที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต นิเวศวัฒนธรรม และเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเดียวกัน มีตัวแทนจากสหภาพยุโรปที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม และมีการจัดเสวนาโดยมีบุคคลหลากหลายร่วมแสดงทัศนะ เช่น นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย ฯลฯ

ตัวแทนจากสหภาพยุโรปแจ้งว่า ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปจำนวน 28 ประเทศมีการออกกฎหมายเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมลง ห้ามนำพลาสติกมาใช้เป็นครั้งที่ 2 และในอีก 8 ปีนี้ก็จะมีการนำพลาสติกกลับมาคัดแยกใช้ หรือรีไซเคิลให้ได้ประมาณ 90% รวมทั้งมีรายละเอียดข้อปฏิบัติอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก และแม่น้ำอิง มีกิจกรรมรณรงค์โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป


นายสมเกียรติกล่าวว่า ย้อนเวลากลับไปประมาณ 20-30 ปี ถ้ามองจากมุมคนท้องถิ่นจะเห็นว่าในอดีตสภาพแม่น้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำกกและแม่น้ำอิงที่ไหลผ่าน จ.เชียงราย มีความอุดสมบูรณ์ โดยมีการศึกษาพบว่าเฉพาะแม่น้ำกกมีพันธุ์ปลาหลากหลายอยู่กว่า 200 ชนิด แต่หลังมีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ ทำให้คาดว่าปัจจุบันมีพันธุ์สัตว์น้ำอยู่ไม่ถึง 100 ชนิดแล้ว ป่าต้นน้ำก็เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการนำพืชเศรษฐกิจ 2-3 ชนิดเข้ามาปลูกมากขึ้น

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า การพัฒนาที่ผ่านมามักมองเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจนั้นเพื่อคนกลุ่มไหน หากเพื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี หรือกลุ่มทุนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากต้องการทำให้เศรษฐกิจภาคประชาชนดีขึ้น การมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์คือคำตอบ เพราะการที่ประชาชนสามารถใช้ความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำสายสำคัญๆ ได้จะทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

รายงานข่าวแจ้งว่า ในเวทีดังกล่าวมีการให้ข้อมูลว่าในปัจจุบันแม่น้ำอิงมีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร ไหลจากพะเยา-เชียงราย และแม่น้ำกก ไหลมาจากประเทศพม่า เข้าสู่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อนไหลผ่าน จ.เชียงราย ระยะทางประมาณ 285 กิโลเมตร ทั้ง 2 สายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.เชียงรายเหมือนกัน ขณะที่แม่น้ำโขงนั้นไหลผ่านประเทศจีน พม่า สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีประชากรริมฝั่งกว่า 60 ล้านคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีพันธุ์ปลากว่า 1,245 ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร



กำลังโหลดความคิดเห็น