xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!! ไทยกลายเป็นแหล่งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการแนะวิธีรับมือการจัดการ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังพบว่าประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้านกรมโรงงานเตรียมยกเครื่องมาตรการนำเข้ากากอิเล็กทรอนิกส์

ตามที่มีข่าวว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นแหล่งรับกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งมาจากประเทศต่างๆโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจจับโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกฎหมาย

ล่าสุดนายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความเห็นถึงช่องทางของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ประเทศไทยและแนวทางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่า จากการสำรวจประเทศไทยมีปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 ที่ 393,070 ตัน และในปี 2560 มีปริมาณที่ 401,319.87ตันเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละร้อยละ 2.0 โดยในปี 2560มีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 30,000 - 40,000 ตันต่อปี เพิ่มมากกว่าก่อนปี 2559 ค่อนข้างมาก

ที่ผ่านมาประเทศไทยเปิดช่องให้สามารถนำซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้าประเทศไทยได้โดยมีประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมฉบับที่ 3/2550 ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตราย เข้ามาในราชอาณาจักรได้ 4 กรณี คือ1.การนำเข้าเพื่อการใช้ซ้ำ 2.การนำเข้าเพื่อการซ่อมแซม 3.การนำเข้าเพื่อการดัดแปลงหรือปรับปรุง 4.การนำเข้าเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพ หมายถึงการนำอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วเพื่อการแกะ ,ชำแหละ,ถอดล้าง,แยกชิ้นส่วนหรือกระทำเพื่อการกำจัดทำลายหรือสกัดแยกเอาวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์

โดยการนำเข้านี้ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซลซึ่งผู้นำเข้าต้องเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานประเภท105 (คัดแยก) และ106 (รีไซเคิล)โดยการนำเข้าต้องมาจากประเทศที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญาเท่านั้นรวมทั้งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศต้นทาง,ประเทศทางผ่านและประเทศผู้รับด้วยซึ่งค่อนข้างมีความยุ่งยากและจะถูกตรวจสอบอย่างมาก การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะไม่แจ้งสำแดงว่านำเข้ามาเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพเพื่อหลีกเลี่ยงอนุสัญญาบาเซล แต่จะสำแดงการนำเข้าเพื่อเป็นสินค้ามือสอง (ใช้ซ้ำ)หรือเพื่อปรับปรุงดัดแปลงแทน

ทั้งนี้ทางกรมศุลกากรเองได้ตรวจสอบตามที่สำแดงไว้และหากบริษัทนำเข้ามีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมศุลกากรก็จะปล่อยให้สินค้านั้นให้แก่บริษัทผู้นำเข้า หลังจากนั้นบริษัทก็นำไปแกะเอาหน้ากาก ชิ้นส่วนต่างๆออก บางส่วนนำไปเป็นอะไหล่ของอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนที่เป็นซากที่มีค่าก็จะส่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่โรงงานประเภท105 และ106 ดำเนินการคัดแยกและรีไซเคิลเพื่อได้สิ่งมีค่า เช่น ทอง ทองแดง ตะกั่ว เงิน แร่แพลเลเดียม ซึ่งมีราคาสูงนำไปจำหน่ายต่อไปได้

นาสนธิ กล่าวต่อไปว่า การลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่ท่าเรือแหลมฉบังที่เคยเกิดขึ้นจะใช้วิธีการหลบเลี่ยงรูปแบบต่างๆ เช่น สำแดงว่าเป็นสินค้ามือสอง , นำซากอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมาในตู้สินค้าที่ไม่เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย ,สำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้าเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่าน หลังจากนั้นแอบเปิดตู้และขนสินค้าออกไป เหลือตู้เปล่าเพื่อส่งออกไปแทน

สำหรับแนวทางในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจดำเนินการ 3 วิธีคือ 1. เร่งออกพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ยกร่างผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้วแต่ยังติดการพิจารณาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกฎหมายนี้จะบังคับให้ผู้ผลิตรับคืนซากผลิตภัณฑ์จากผู้บริโภคและผู้บริโภคห้ามทิ้งซากผลิตภัณฑ์สู่ที่สาธารณะและจะต้องนำส่งร้านค้าหรือศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์เท่านั้น การนำส่งคืนต้องห้ามถอดแยกชิ้นส่วนออก หลังจากนั้นผู้จัดจำหน่ายต้องนำส่งโรงงานรีไซเคิลและโรงงานกำจัดอย่างปลอดภัยที่ถูกกฎหมายดำเนินการต่อไป การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์สี่แสนกว่าตัน ที่ถูกทิ้งบ่อขยะเทศบาลหรือที่ถูกนำไปแปรสภาพโดยประชาชนอย่างไม่ถูกสุขลักษณะลดจำนวนลงอย่างมากทันที ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการใช้งานของประชาชนจะถูกจัดการอย่างถูกหลักวิชาการ

2.ทำการปรับปรุงประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมฉบับที่ 3/2550 เรื่องเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร โดยควรยกเลิกในส่วนของการอนุญาตให้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตราย เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพ และควรส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า

3.หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดตรวจสอบการการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ด่านศุลกากรโดยให้สินค้าตรงกับใบที่สำแดง รวมทั้งเร่งตรวจสอบโรงงานที่รับคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ทางด้านกรมโรงงานโดยนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขยะลิเล็กทรอนิกส์ต่างๆนั้น ทางกรมโรงงานจะอนุญาตให้กับโรงงานที่มีใบอนุญาต รีไซเคิลเท่านั้น คือ ใบโรงงาน 106 และปริมาณนำเข้าจะสอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานนั้นๆ แต่ขณะนี้พบว่ามีช่องโหวบางส่วนที่ผู้นำเข้าสามารถสำแดงเท็จได้ ดังนั้นหลังจากนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากรจะมาหารือร่วมกันเพื่อหามาตรการในการกำกับดูแลในเรื่องนี้

สำหรับนโยบายในอนาคตเกี่ยวกับการนำเข้ากากอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอนุสัญญาบาร์เซล ในรายการอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในการนั้นแล้ว แต่ถ้าประเทศไทยจะยกเลิกการนำเข้า ต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากคณะกรรมการฯเห็นชอบก็จะแจ้งไปยังอนุสัญญาบาร์เซล ว่าขณะนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของประเทศไทย ขอแบรนสินค้าดังกล่าวไม่ให้นำเข้า ก็จะถือว่าเป็นการยกเลิกเศษขยะดังกล่าวโดยสิ้นเชิง

หลังจากนี้กระบวนการนำเข้าเศษวัสดุอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากท่าเรือ โดยกรมศุลกากรอนุมัติแล้ว กระบวนการจากท่าเรือไปสู่โรงงานนั้น จะมีการออกกฎระเบียบการดูแลที่เข้มงวดและรอบครอบ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงออกไปได้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้กำกับดูแลอย่างเข้มงวด จึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ดังนั้นจะต้องมีขบวนการที่เข้มงวดมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น