ศูนย์ข่าวศรีราชา - แผนแก้ปัญหาขยะในกลุ่ม Cluster ที่ 2 ของ จ.ชลบุรี มีความคืบหน้า หลัง อปท.ส่วนใหญ่เห็นชอบแนวทางการศึกษาการจำกัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผา
จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายให้ทุกส่วนราชการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระห่งชาติ โดยในพื้นที่ จ.ชลบุรี กำหนดให้มีการบริหารจัดการปัญหาขยะรวม 5 กลุ่ม cluster และ เมืองพัทยา ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในกลุ่ม cluster ที่ 2 โดยรวมพื้นที่ อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ เข้ามาดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาขยะ ด้วยงบประมาณ 5 ล้านบาท และได้จัดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับแผนการจัดสร้างเตาเผาขยะไปแล้วนั้น
วันนี้ (22 พ.ค.) คณะผู้ศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ประชุมร่วมกับเมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 16 แห่งในพื้นที่กลุ่ม cluster ที่ 2 ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อนำเสนอผลการศึกษาปริมาณ และคุณสมบัติของขยะ รวมถึงปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบัน และความเหมาะสมของการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยการสร้างเตาเผาขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งวิเคราะห์ และประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์และการเงินของระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่คัดเลือกในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม โดยมี พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา และคณะผู้บริหารเมืองพัทยา รวมทั้งตัวแทน 11 อปท.ในพื้นที่ อ.บางละมุง และสัตหีบเข้าร่วม
โดยได้มีการเสนอผลการศึกษาแนวทางการกำจัดขยะมูลฝอย Cluster ที่ 2 ของ จ.ชลบุรี ว่าปริมาณขยะที่พบว่าในกลุ่มนี้มีมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งการจัดการปัญหาดังกล่าวจะดำเนินการใน 2 ส่วน คือ 1.การจัดทำระบบบีบอัดขยะในลักษณะแคปซูล ณ จุดพักขยะ 3 แห่งจาก 3 พื้นที่ในลักษณะระบบปิด เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษต่อชุมชน และจะนำขยะเข้าเครื่องบีบอัดให้เป็นลักษณะของแคปซูลเพื่อไล่ความชื้นป้องกันทั้งปัญหาการรั่วซึม และมลพิษระหว่างขนถ่าย
2.การขนส่งขยะมายังโรงงานเตาเผาขยะ ซึ่งตามแผนจะใช้พื้นที่ใน ต.เขาไม้แก้ว เป็นจุดก่อสร้าง ภายใต้งบประมาณกว่า 500-1,000 ล้านบาท ซึ่งโรงงานเตาเผาขยะจะจัดทำเป็นระบบปิด โดยใช้การเผาทำลายแทนการฝังกลบแบบเดิมด้วยอุณหภูมิความร้อนกว่า 700 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ปริมาณขยะจาก 100 ตัน เหลือเพียงขี้เถ้าในสัดส่วน 20% เท่านั้น ขณะที่ความร้อนที่ได้จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะได้พลังงานกว่า 12 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นระบบสากลที่ใช้กันมานานกว่า 100 ปี และเปิดใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในทวีปเอเชีย และยุโรป
ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า หลังรับฟังผลการศึกษาการกำจัดขยะ มูลฝอยในกลุ่ม Cluster ที่ 2 ของ จ.ชลบุรี พบว่า ทั้ง 11 อปท.เห็นชอบต่อแนวทางการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการเผาขยะ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำผลการศึกษาเสนอไปยัง จ.ชลบุรี เพื่อพิจารณา และนำเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อไป