ศูนย์ข่าวศรีราชา - สนง.ทรัพยากรและธรรมชาติชลบุรี ร่วมเมืองพัทยา ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ปัญหาน้ำเสียลงทะเลพัทยา ระบุเกิดจากน้ำทะเลล้นเข้าบ่อเก็บกักน้ำ ขณะที่อุปกรณ์สถานีสูบน้ำเสียหายส่งผลกระทบประสิทธิภาพในการส่งน้ำเสียไปบำบัดก่อนลงไหลลงสู่ทะเล
จากกรณีที่มีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่าบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี มีน้ำเน่าเสียลักษณะดำขุ่นข้นคล้ายน้ำมีกลิ่นเหม็นถูกปล่อยทิ้งลงไปในทะเลจนบริเวณดังกล่าวกลายเป็นน้ำแบบ 2 สี สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากนั้น
ในวันนี้ (20 พ.ค.) นายอนันต์ พรหมดนตรี ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อมจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นายสมภพ วันดี รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ตัว แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 จ.ชลบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณประภาคารแหลมบาลีฮาย เพื่อตรวจสอบสภาพและหาสาเหตุของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้น
นายสมภพ วันดี รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา เปิดเผยว่าสำหรับสาเหตุของน้ำทะเลเป็นสีดำนั้นเกิดจากด้วยช่วงเวลา 02.00น.ของวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา น้ำทะเลมีระดับสูงจนทำให้น้ำทะเลไหลย้อนเข้าไปช่องระบายน้ำล้นของสถานีสูบ บริเวณแหลมบาลีฮาย ปลายคลองพัทยาใต้ อีกทั้งสถานีสูบน้ำหลักซึ่งมีหน้าที่รวบรวมน้ำเสียจากโซนพัทยาใต้ทั้งหมด เพื่อสูบส่งไปยังโรงบำบัดน้ำเสียในซอยหนองใหญ่นั้นพบว่าเครื่องจักรที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเกิดการชำรุด ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำไปยังโรงบำ บัดน้ำเสียได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทำให้มีน้ำเสียที่ค้างท่อจำนวนมาก สุดท้ายเมื่อน้ำทะเลหนุนน้ำจึงปะปนกันก่อนไหลลงสู่ทะเล เนื่องจากระบบสูบไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จนปรากฏเป็นภาพปัญหาในโลกโซเซียล
“แนวทางแก้ในเบื้องต้นขณะนี้ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการปิดประตูน้ำที่อยู่ในสถานสูบน้ำเสียคลองพัทยาใต้ทุกบาน เพื่อรอการซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในสถานีสูบน้ำให้แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซมเพียง 1 วันก็จะแล้วเสร็จ และจะสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ สำหรับบริเวณที่น้ำทะเลเกดปัญหานั้น เป็นจุดที่มีการต่อท่อระบายน้ำล้นหรือน้ำฝนลงสู่ทะเล ขนาดท่อประมาณ 1.50 เมตร”นายสมภพ กล่าว
ขณะที่ นายอนันต์ พรหมดนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อตรวจสอบสาเหตุน้ำทะเลที่เป็นสีดำนั้นเกิดจากสาเหตุใด พร้อมประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเมืองพัทยาหาแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งหลังจากนี้เมืองพัทยาจะการเก็บตัวอย่างน้ำเสียดังกล่าวไปตรวจสอบถึงมาตรฐานว่ามีอันตรายและมีผลต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลรวมถึงระบบนิเวศน์หรือไม่
โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์ประมาณ 2-3 อาทิตย์จึงจะทราบผลสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ในช่วงระหว่างการตรวจ สอบคุณภาพน้ำเสียดังกล่าว ก็อยากฝากเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะลงมาเล่นน้ำทะเลบริเวณดัง กล่าว ให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นน้ำเสีย