ประจวบคีรีขันธ์ - หาชมยาก! ฝูงลิงแสมบนเกาะโครำ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ใช้ก้อนหินทุบหอยนางรมที่เกาะอยู่ตามโขดหินกินประทังชีวิต หลังน้ำลงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอด ถือเป็นวัฒนธรรม การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนปัจจุบันนี้ ที่สำคัญพบเพียง 1 ใน 2 แห่งของประเทศเท่านั้น
นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เปิดข้อมูลว่า เกาะโครำ เป็นเกาะที่ทอดตัวยาวมีลักษณะคล้ายคนนอนตะแครง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาดสามร้อยยอดมากนัก อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
บริเวณของชายหาดบนเกาะโครำ นอกจากมีหาดทรายบางส่วนแล้ว ยังมีหาดที่มีลักษณะเป็นโขดหินน้อยใหญ่โผล่เรียงรายให้เห็นเป็นจำนวนมากยิ่ง และในเวลาที่น้ำทะเลลง ยิ่งพบเห็นได้ชัด ส่วนด้านบนมีลักษณะเป็นภูเขาและมีป่าไม้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เขียวขจี
สิ่งสำคัญที่น่าสนใจบนเกาะโครำแห่งนี้ คือเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงแสมราว 100 ตัว ซึ่งเชื่อกันว่าอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มานานถึง 50 ปี โดยเดิมทีลิงแสมน่าจะอาศัยอยู่บนชายฝั่งสามร้อยยอด จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ ซึ่งเชื่อว่าลิงแสมส่วนหนึ่งว่ายน้ำข้ามมาที่เกาะโครำแห่งนี้เพียงไม่กี่ตัว
และได้มาผสมพันธุ์จนออกลูกจนทำให้ในปัจจุบันนี้พบข้อมูลของนักวิชาการ ที่เดินทางมาสำรวจบนเกาะพบว่ามีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่ประมาณ 80 ตัวในระหว่างปี พ.ศ.2558-2559 เนื่องจากในแต่ละปีเฉลี่ยมีลูกเกิดใหม่เฉลี่ยปีละเกือบ 20 ตัว จนทำให้ปัจจุบันนี้น่าจะมีอยู่ราวประมาณ 100 ตัว โดยฝูงลิงแสมได้อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้อย่างถาวร โดยไม่พบว่ามีการว่ายน้ำกลับฝั่งสามร้อยยอด มีเพียง 2-3 ตัวเท่านั้นที่ว่ายไปยังเกาะนมสาว และอาศัยอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน
นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เล่าอีกว่าฝูงลิงแสมที่ดำรงชีวิตอยู่บนเกาะโครำแห่งนี้ พวกมันมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลิงที่อาศัยอยู่บนฝั่งอย่างเห็นเด่นชัด และลักษณะพิเศษของพวกมันคือจะอาศัยเวลาที่น้ำทะเลลง ซึ่งทำให้โขดหินใหญ่น้อยโผล่ขึ้นมาเรียงรายให้เห็น และตามโขดหินก็มีหอยนางรมธรรมชาติที่เกาะอยู่โผล่ขึ้นมาด้วย
ทำให้ฝูงลิงแสมที่นี่ใช้ก้อนหินทุบเปลือกหอยนางรมให้หลุดออกหลัง จากนั้นก็จะใช้เล็บของมันแกะหอยนางรมที่อยู่ในฝาออกมากิน ถือว่าเป็นการดำรงชีวิตอย่างหนึ่งที่หาชมยาก ลิงทุกตัวก็จะทำแบบเดียวกัน บางส่วนก็จะขุดหาหอยที่ฝังอยู่ใต้ก้อนหินเมื่อขึ้นมาทุบกับโขดหินจนเปลือกหอยแตก ก่อนแกะเนื้อมากิน
ในขณะที่บนภูเขาก็ยังมีพวกผลไม้ป่าและใบไม้ ให้พวกมันได้กินด้วยเช่นกัน ฝูงลิงแสมที่เกาะโครำไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เพราะไม่ได้อดอยาก เฉกเช่นลิงแสมที่อยู่บนฝั่งแต่อย่างใด ซึ่งบางครั้งจะมีนักท่องเที่ยวมากับเรือประมงมาดูฝูงลิงแสมที่เกาะโครำ โดยทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการให้ได้รับทราบว่าห้ามมิให้นำอาหารใดๆ มาให้ฝูงลิงเพราะจะได้ไม่ติดเป็นนิสัย
ลิงที่นี่ก็มีอาหารที่เพียงพออยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการดำรงชีพในการหากินตามวัฒนธรรมของพวกมัน เพียงแต่นักท่องเที่ยวที่มาสามารถนำน้ำจืดมาใส่ไว้ในภาชนะที่ทางอุทยานแห่งชาติฯ ทำไว้ให้ฝูงลิงได้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง หากปีใดประสบภัยแล้งหนัก ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ก็จะนำน้ำจืดจากฝั่งมาเติมให้ตลอดเวลา โดยจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ คอยเดินทางมาสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
สำหรับการทุบหอยนางรมของลิงแสมเกาะโครำ ถือเป็นวัฒนธรรมที่มีการสืบต่อด้วยการเรียนรู้จากรุ่นต่อรุ่นมาจนปัจจุบันนี้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมของฝูงลิงแสมที่หาชมได้ยาก ซึ่งในประเทศไทยพบเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ที่เกาะโครำ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมสน จ.ระนอง เท่านั้น