อุบลราชธานี-พายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านใน 2 อำเภอเมืองอุบลฯ บ้านเรือนพังเสียหายร่วม 30 หลังคาเรือน หลังเกิดเหตุชาวบ้านต้องช่วยกันกรอกข้าวเปลือกที่เปียกน้ำฝนมาตากแดด กันเกิดเชื้อราก่อนนำไปเก็บในที่ปลอดภัย ด้านสำนักงานชลประทานที่ 7 เริ่มสั่งเขื่อนและอ่างเก็บพร่องน้ำรับน้ำฝนใหม่ในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในเดือนหน้า
ชาวบ้านดอนเชียงโท หมู่ 7 ต.สร้างถ่อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ช่วยกันกรอกข้าวเปลือกที่เปียกน้ำฝนภายในยุงใช้เก็บข้าวน้ำหนักเกือบ 1 ตัน เพื่อนำออกไปตากแดดไม่ให้ข้าวเปลือกเกิดเป็นเชื้อรา และนำมาเก็บรักษาใหม่ หลังเกิดพายุพัดหลังคายุ้งข้าวและมีน้ำฝนตกลงมาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายสัญญา จันทรถ อายุ 44 ปี ชาวบ้านดอนเชียงโทที่ประสบภัยและยุ้งข้าวได้รับความเสียหายเล่าว่า พายุฤดูร้อนพัดถล่มเข้าหมู่บ้านเมื่อประมาณ 5 โมงเย็น โดยมีฝนและลมพัดอย่างรุนแรง ระหว่างนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในวัดที่จัดเตรียมงานประเพณีบุญบั้งไฟของหมู่บ้าน หลังฝนตกอยู่นานประมาณ 30 นาทีก็หยุด ชาวบ้านได้พากันกลับบ้านก็พบความเสียหายดังกล่าว
ด้านนายสมเดช ภิญญะชาติ ผู้ใหญ่บ้านดอนเชียงโท ต.สร้างถ่อ ระบุว่า พายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้น ทำความเสียหายให้บ้านเรือนของชาวบ้านรวม 16 หลัง ยุงข้าวพังอีก 3 หลัง และเช้าวันนี้ ได้เข้าสำรวจความเสียหาย เพื่อแจ้งให้ อบต.สร้างถ่อนำวัสดุก่อสร้างมาใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนให้ชาวบ้านเข้าอาศัยได้ตามปกติ
นอกจากเกิดพายุที่อำเภอเขื่องในแล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกันยังเกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มในหมู่บ้านน้ำยืน หมู่ 6 ต.โซง อ.น้ำยืน มีบ้านเรือนถูกพายุพัดเสียหายอีก 12 หลังคาเรือน ซึ่งทางอำเภอได้ออกสำรวจและให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยแล้ว
ขณะเดียวกันพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างมาตลอดทั้งเดือน ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำชี ลำน้ำเซบาย มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ได้สั่งการให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำทั้งสองสาย เริ่มระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูล เพื่อลดปริมาณการเก็บกักและรองรับน้ำฝนใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนปีนี้
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี รายงานว่า วันที่ 11-13 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนวันที่ 14-17 พ.ค. มีฝนลดลงเหลือร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการเกิดพายุฝนตกหนักในช่วงนี้ไว้ด้วย