ศูนย์ข่าวศรีราชา - จบยากปัญหาขยะ..ล่าสุด เมืองพัทยา เรียกทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน สุดท้ายยังสรุปเรื่องการจัดหาสถานที่พักขยะไม่ลงตัว และต้องทำประชาพิจารณ์ใหม่ 13 พ.ค.นี้ ด้าน นายกเมืองพัทยา ประกาศลั่น พร้อมแก้ไขปรับปรุงพื้นที่ลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อมจริงจังหากเห็นชอบให้ใช้พื้นที่อีกครั้ง ย้ำหากยังเกิดปัญหาซ้ำซากก็พร้อมลาออกจากตำแหน่ง
วันนี้ ( 10 พ.ค.) ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา ,นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่ง แวดล้อมเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมร่วมกับสมาชิกสภาเมืองพัทยา และตัวแทนจาก 42 ชุมชนในเขตเมืองพัทยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการจัดเก็บขยะมูลฝอยในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีการใช้พื้นที่โรงพักขยะบริเวณสุขุมวิทซอย 3 ที่ยังคงมีปัญหาไม่จบสิ้น
โดย พล.ต.ต.อนันต์ ระบุว่าที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้เข้าแก้ไขปัญหาโรงพักขยะสุขุมวิทซอย 3 มาโดยตลอด และได้เร่งพิจารณาปรับรูปแบบการใช้พื้นที่ และการเก็บขนที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดทำ TOR หรือขอบข่ายการดำเนินการที่ชัดเจน ครอบคลุม และเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ด้วยปัญหาหลายด้าน ทั้งการจ้างเหมาผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในปี 60 งบประมาณที่อาจสูงเกินไปในการขนถ่ายขยะจากแหล่งไปกำจัดโดยตรง ขณะที่การใช้โรงพักขยะเพื่อลดงบประมาณก็มีปัญหาผลกระทบกับชุมชน การนำเสนอญัตติเพื่อขอจัดสรรงบประมาณว่าจ้างภาคเอกชนรายใหม่จึงยังเป็นปัญหาและมีการขอเลื่อน ขอถอนญัตติมาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ตามในการประชุมสภาเมืองพัทยา สภาฯ ติงว่า งบประมาณการขนจากแหล่งไปกำจัดที่สูงกว่า 1,300 กว่าล้าน ต้องให้มีการทบทวนใหม่โดยเฉพาะการใช้พื้นที่จุดพักเช่นเดิมซึ่งจะลดงบประมาณได้กว่า 300 บาทในระยะเวลาสัญญา 4 ปี รวมทั้งทบทวนการใช้โรงพักขยะที่สุขุมวิทซอย 3 อีกครั้ง แม้ว่าความตั้งใจเดิมของคณะผู้บริหารจะยุติการใช้โรงพักขยะดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากเห็นใจประชาชนที่ทนทุกข์มานาน แต่ระยะเวลาปัจจุบันที่กระชั้นชิดเข้ามา ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องตัดสินใจยังใช้พื้นที่แห่งนี้ต่อไป
" แต่ในสัญญาใหม่เมืองพัทยาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ารถเก็บขนขยะจะต้องเป็นรถใหม่ และยังมีแผนในการปรับปรุง และแก้ ไขสถานีขนถ่ายเดิม เพื่อให้อุปกรณ์และผิวถนนภายในมีความเหมาะสมในการใช้งาน รวมทั้งมีการสร้างระบบรางระบายน้ำภายในใหม่ เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากขยะ และน้ำชำระล้างต่างๆ ไหลไปรวมกันในบ่อพัก เพื่อรอการบำบัด ไม่ไหลออกมาปะปนหรือสร้างปัญหากับชุมชนอีกต่อไป จึงต้องมาทำประชาคมเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในครั้งนี้"
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวอีกว่า การขอใช้พื้นที่โรงพักขยะในซอยสุขุมวิท 3 นั้น เมืองพัทยา มีแผนการปรับปรุงและบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น แล้ว 6 ประการ คือ 1.การสร้างรางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเสียไหลลงสู่ชุมชน 2.ปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารสถานี โดยเฉพาะการจัดทำระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย 3.ปรับปรุงทางลาดเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนถ่ายมากขึ้น 4.ปรับปรุงเพิ่มเติมระบบดูอากาศเพื่อนำไปบำบัดก่อนปล่อยสู่อากาศเพื่อลดปัญหามลพิษ 5.ปรับปรุงพื้นผิวถนน และรางระบายน้ำภายนอกและบริเวณโดยรอบให้เกิดความสวยงาม เหมาะสม และ 6.กำกับดูแลระบบการจราจรของรถขนถ่ายขยะในการเข้า-ออกภายในชุมชน เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
โดยทั้ง 6 ข้อจะดำเนินการอย่างจริงเพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจและลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าหากชาวบ้านยินยอมให้ใช้พื้นที่และมีการจ้างสัมปทานผู้รับเหมารายใหม่เรียบร้อย แต่ยังเกิดปัญหาซ้ำซากขึ้นอีก ในฐานะนายกเมืองพัทยาก็จะขอรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
ด้าน นายบุญมา ฝังรักษ์ ผู้นำชุมชนบ้านโรงไม้ขีด เผยว่าข้อสรุปการประชุมที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถตัดสินใจแทนชาวบ้านได้ แต่ก็ได้พยายามปกป้องสิทธิ์ของชาวบ้านให้ได้รับประโยชน์สูงสุด จึงได้ตั้งข้อเรียกร้องไปยังเมืองพัทยา 8 ข้อเพื่อให้เมืองพัทยาพิจารณาการอันเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก และยังเป็นมาตรการที่สร้างความพึงพอใจให้ชาวบ้านได้หากเมืองพัทยารับปากว่าจะทำได้ แต่ที่ผ่านมาในการยินยอมครั้งแรกเมืองพัทยารับปากว่าจะดำเนินการให้แต่กลับพบว่าไม่มีความชัดเจนชาวบ้านจึงออกมาคัดค้านการใช้พื้นที่อีกครั้ง เนื่องจากขาดความมั่นใจว่าเมืองพัทยา จะบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง
อย่างไรก็ตามกรณีนี้จึงอยากให้เมืองพัทยาไปจัดทำประชาพิจารณ์อีกครั้งกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบใน 2 ชุมชนหลัก ไม่ใช่มาฟังเสียงจากชุมชนทั้งหมดที่ไม่ต้องมาพบกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้ความจริงใจในการร่วมกันหารือ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด และเกิดพึงพอใจทั้งสองฝ่าย
ส่วน นายอภิชาต วีระปาล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าปัจจุบันมีกฎหมายมากมายออกมายในเรื่องของการกำจัดขยะ ส่งผลให้มีทางแก้ไขปัญหาได้จำกัด โดยเฉพาะการนำขยะออกไปกำจัดนอกเขตจังหวัด ยิ่งส่งผลให้เมืองพัทยาต้องทำงานยากขึ้น ประกอบกับสัญญาจ้างปัจจุบันที่เหลือระยะเวลาน้อยลงทุกทีก็ยิ่งต้องทำให้เราต้องหาทางออกโดยเร็ว ซึ่งการกลับมาใช้โรงพักขยะซอย 3 ก็เป็นทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาขยะภายในเมืองพัทยาที่เกิดขึ้นทุกวันได้เป็นอย่างดี สำหรับข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อจากชุมชนนั้น คงตอบได้ว่าเมืองพัทยาสามารถทำได้ทันที 6 ใน 8 ข้อ ส่วนข้อที่มีการร้องขอให้ตั้งตัวแทนชุมชนจำนวน 10 คนเพื่อเข้ามาตรวจสอบการจัดการปัญหาขยะและโรงพักขยะนั้นมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะจะเป็นการเข้าไปทำให้กระบวนการทำงานล่าช้าลง ส่วนประเด็นของการตั้งกองทุน 5 ล้านบาท
ปัจจุบันเมืองพัทยายังไม่ได้มีการออกข้อบัญญัติมารองรับ เนื่องจากเป็นระบบการปกครองพิเศษจึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของกระ ทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2560 แต่เมื่อมีการร้องขอก็ได้มีการศึกษาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดทราบว่ากรณีข้อบัญญัตินี้ ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนพัทยาสามารถปฏิบัติได้ เพียงแต่ต้องมาร้องขอ ให้สภาเมืองพัทยามีความเห็นชอบเสียก่อนเท่านั้นจึงคงไม่ติดปัญหาอะไร
"สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอให้ใช้พื้นที่ของสนามกีฬาภาคตะวันออก ในซอยชัยพฤกษ์ 2 เป็นที่พักขยะแห่งใหม่นั้น กรณีดังกล่าวในที่ประชุมความคิดเห็นส่วนใหญ่ของผู้นำชุมชนต่างออกมาคัดค้านอย่างหนักแน่นที่จะไม่ยินยอมให้มีการใช้พื้นที่ใหม่นี้เป็นจุดขนถ่ายขยะ ส่วนพื้นที่โรงพักขยะเดิมในซอยสุขุมวิท 3 นั้นก็คงไม่สามารถหาผลสรุปที่ชัดเจนได้ เมืองพัทยาจึงจะเร่งดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งถึงความเห็นชอบ และปัญหาที่มีผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 โดยมีการกำหนดให้วันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ที่ โรงเรียนเมืองพัทยา 1 (เชิญ พิศลยบุตร ราษฎร์บำเพ็ญ) เป็นเวทีในการจัดประชุมประชาพิจารณ์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้มาฟังแนวทางการแก้ไขของเมืองพัทยา และแสดงความคิดเห็นในการสนับสนุนให้ใช้สถานีขนถ่ายขยะ เพื่อนำความเห็นเสนอต่อสภาเมืองพัทยาพิจารณาเห็นชอบในวันที่ 16 พ.ค.นี้ต่อไป"นายอภิชาต กล่าว