xs
xsm
sm
md
lg

“คณิศ” เตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่แหลมฉบัง-พัทยา รับฟ้งเสียงความต้องการคนในพื้นที่จากผลพวงการพัฒนาพื้นที่ EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “คณิศ” เตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจคนในพื้นที่แหลมฉบัง-พัทยา หลังพบปัญหาหลายด้าน พร้อมประสานผู้มีประสบการณ์ในพื้นที่ร่วมกันวางแผน คาดภายใน 1-2 เดือนเห็นเป็นรูปธรรม โดยเน้นปัญหาการจราจร และการพัฒนาเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย และน้ำท่วม เผยอนาคตภายใน 15 ปี พื้นที่ EEC คือ กรุงเทพมหานคร

วันนี้ (7 พ.ค.) ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหา พร้อมกล่าวถึงบทบาทของ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 เทศบาลนครแหลมฉบัง โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ ประธานที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ข้าราชการ และภาคเอกชน ร่วมประชุมครั้งนี้จำนวนมาก

ดร.คณิศ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) คือ ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนจากทั่วโลก เป็นพื้นที่v6ตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย ทั้งยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก พร้อมท่าเรือน้ำลึก และโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เป็นแหล่งจ้างงานทักษะสูงที่สำคัญของเอเชีย ส่งผลให้พื้นที่นี้มีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาต่อยอดทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย

ปัจจุบัน การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้เล็กน้อย ที่สำคัญคือ ภายในปี 2561 โครงการต่างๆ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทุกโครงการแล้ว การพัฒนาโครงการ EEC โดยจะเริ่มต้นจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานใน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองให้ดียิ่งขึ้น โดยโฟกัสหลักจะอยู่ที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากที่ผ่านมา รันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ มีความหนาแน่นมาก รัฐบาลจึงต้องการใช้สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้คนที่จะเข้ามาในเขตเมืองใหม่ โดยสนามบินกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง ทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา จะถูกเชื่อมถึงกันทั้งหมดด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินทางไปมาระหว่าง 3 สนามบินทำได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมแล้ว ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ทั้งท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสัตหีบด้วย เนื่องจากทั้ง 3 ท่าเรืออยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภาเพียงแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ด้านการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดใช้การขนส่งทางรถยนต์เป็นหลักกว่า 90% ทำให้มีความหนาแน่นของปริมาณรถยนต์สูงมาก รัฐบาลจึงมีโครงการสร้างรถไฟรางคู่ เพื่อรองรับการขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องการดึงทราฟฟิกจากถนนให้มาอยู่บนรางประมาณ 30%

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะแบ่งเป็น 2 ชุด คือ 1.การพัฒนาสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมทั้ง 3 สนามบินเข้าด้วยกัน 2.การพัฒนาท่าเรือทั้ง 3 แห่ง และการสร้างรถไฟรางคู่สำหรับการขนส่ง ซึ่งขณะนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดได้มีการจัดทำแผนงานเสร็จสิ้น และผ่านการอนุมัติหมดแล้ว โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นการทำ TOR และได้ผู้ลงทุนในปี 2561 ทั้งหมด ทำให้การดำเนินงานระยะแรกจะจบในปีนี้ ที่เหลือคือ การก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการสร้างเสร็จทั้งหมดได้ภายใน 5 ปี”

ดร.คณิศ เผยด้วยว่า ด้วยกรอบระยะเวลาการพัฒนาขณะนี้ถือว่าไม่ช้าเกินไป เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลาพอสมควร เช่น การสร้างรถไฟจะใช้เวลา 3 ปี ส่วนสนามบินในระยะแรกอาจจะเปิดได้ก่อน แต่ถ้าจะเสร็จสมบูรณ์ก็จะใช้เวลา 4-5 ปี และในอนาคตภายใน 15 ปี พื้นที่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จะเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และกลายเป็นมหานครอย่างสมบูรณ์แบบ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพัฒนาพื้นที่ EEC ต้องมีผลกระทบแน่นอน ทั้งในด้านบวกและลบ

“หลังมารับฟังเจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่แหลมฉบัง พบปัญหาหลากหลายประเด็น รวมทั้งประชาชนยังสงสัยกันว่า โครงการนี้เกิดขึ้นแล้วคนในพื้นที่จะได้อะไร ดังนั้น จึงจะส่งทีมงานที่มีความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญลงวางแผนในเชิงพื้นที่ เช่น แหลมฉบัง และพัทยา ศึกษารายละเอียด เนื่องจากในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวมีการพัฒนาโครงการใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น จะต้องมีการวางระบบให้ดี โดยเฉพาะด้านระบบการขนส่ง เนื่องจากพื้นที่แหลมฉบังมีท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการขนส่งทางราง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว ดังนั้น จึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้หมดไปวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่จะลงพื้นที่รับฟังปัญหาแล้ว และพร้อมดำเนินการได้ คาสดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้คาดก็จะแล้วเสร็จ”

ดร.คณิศ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ในการพัฒนาเมืองจะมีการดำเนินการให้รอบด้าย โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย และน้ำท่วม ซึ่งจะต้องวางทั้งระบบ โดยรายละเอียดในปัญหาต่างๆ คงไม่ล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่างมีความรู้ และความเข้าใจ ซึ่งมานั่งพูดคุยกันไม่นานก็จะทราบปัญหา และแนวทางจะแก้ไขว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และงบประมาณที่จะนำมาแก้ไขนั้นจะมาจากส่วนไหน

ด้าน นายสนธยา กล่าวว่า สำหรับสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือ สร้างความเข้าใจต่อชาวบ้านว่าเมื่อโครงการ EEC เข้ามาในพื้นที่แล้วจะไม่สร้างปัญหา หรือผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น มีแรงงานชาวไทย ต่างด้าว และชาวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นโดยจะต้องวางแผนในการรองรับให้รอบคอบ ด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในการรองรับเพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่ใช่ให้ประชาชนในพื้นที่ต้องรอคิวในการรักษา

นอกจากนั้น ทางการจราจร โดยเฉพาะรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ สถานที่วางตู้คอนเทนเนอร์ ต้องมีการจัดระเบียบให้ดี และด้านสภาพแวดล้อม เช่น ขยะมูลฝอย ขยะพิษจากชุมชน และจากโรงงานอุตสาหกรรมต้องดำเนินการให้เรียบร้อย โดยปัญหาต่างๆ หากวางรูปแบบ และแนวทางที่ชัดเจนไม่ไปสร้างปัญหา หรือผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ปัญหาต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้นและประชาชนในพื้นที่ก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น จะต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ก่อนเป็นประการสำคัญ






กำลังโหลดความคิดเห็น