ระยอง - นายก อบจ.ระยอง นำหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บค่าบริการสะพานท่าเรือเกาะเสม็ด หลังชาวบ้านยื่นหนังสือถึงหัวหน้าอุทยานฯ ให้ยกเลิกเก็บค่าบริการกับชาวบ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการเรือ เลี่ยงใช้ท่าฯอื่น หลีกเลี่ยงการจัดเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าว
วันนี้ ( 1 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบ กรณีที่ นายภีมเดช อมรสุคนธ์ ทนายความเมืองระยอง ประธานสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก พร้อมชาวบ้านเพ และชาวบ้านเกาะเสม็ดนับ 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เพื่อขอให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินค่าใช้บริการท่าเรือเกาะเสม็ด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม. 4 ต.เพ อ.เมืองระยอง จากบริษัทฯที่ได้รับสัมปทานจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา
กระทั่ง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ต้องเปิดแถลงข่าวว่า สะพานท่าเรือเกาะเสม็ด เปิดให้บริการถูกต้องตามระเบียบและเปิดใช้ในปี 2556 ซึ่งการจัดเก็บค่าใช้สะพานท่าเรือเกาะเสม็ด ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครอง โดยจัดเก็บรายได้ปีละประมาณ 5 ล้านบาท ทำให้มีค่าใช้จ่ายคงเหลือประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี และได้นำไปปรับปรุงซ่อมแซม สะพานที่ชำรุดเสียหาย พร้อมยืนยันว่าจะเก็บค่าใช้สะพานเฉพาะกับ นักท่องเที่ยวและเรือโดยสารเท่านั้น ส่วนเรือโดยสาร ที่ไม่ยอมเสียค่าบริการ จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด และขีดเส้นตายภายวันที่ 1 พ.ค.นี้นั้น
ล่าสุดในวันนี้ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองพร้อมด้วย นายกิตติ เกียรติมนตรี รองนายกฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เดนิทางลงพื้นที่ท่าเรือเกาะเสม็ด โดยพบว่ามีการติดป้ายยืนยันว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าใช้ท่าเรือจากชาวบ้านเกาะเสม็ดแต่อย่างใด โดยพบเพียง ปัญหาเรื่องความล่าช้าเกี่ยวกับการเข้าคิวจ่ายเงินค่าผ่านท่าฯ ของนักท่องเที่ยว ซึ่งในเบื้องต้นได้แก้ปัญหาด้วยการใช้บัตรสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
ขณะที่บรรยากาศการใช้บริการสะพานท่าเรือเกาะเสม็ดในวันนี้พบว่า เรือสปีดโบ๊ทส่วนใหญ่ ที่นำนักท่องเที่ยวจากฝั่งบ้านเพ ข้ามไปยังเกาะเสม็ด ได้เลี่ยงไปใช้สะพานของอุทยานแห่งชาติฯ บริเวณอ่าวลูกโยน แทนการใช้สะพานท่าเรือเกาะเสม็ด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
นายสมบูรณ์ เทียนชัย อายุ 47 ปี เจ้าของเรือสปีดโบ๊ท กล่าวว่าการเรียกเก็บค่าบริการท่าเรือเป็นเงิน 1,500 บาทต่อเดือนต่อลำ ถือว่าสูงเกินไป เพราะเรือโดยสารไม่ได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวทุกวัน แต่กลับต้องเสียค่าใช่จ่ายรายเดือน จึงขอร้องให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด นำปัญหาที่เกิดขึ้นกลับไปทบทวนใหม่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือโดยสาร ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้ยกเลิกการเก็บค่าบริการและห้ามสัมปทานให้เอกชนในการจัดเก็บค่าบริการใช้สะพานท่าเรือดังกล่าว แต่ในเบื้องต้นแพ้คดี จึงได้ทำการร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้อยู่ระหว่างอยู่ระหว่างพิจารณา แต่กลับพบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้ดำเนินการจัดเก็บค่าบริการไปก่อนหน้า จึงทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้ประกอบการเรือโดยสาร