xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น!! เรือภัตตาคารกลางอ่าวพัทยา สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา- หวั่นเรือภัตตาคารกลางอ่าวพัทยา กระทบสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว หลังชาวบ้านร้องอาจสร้างปัญหาขยะและน้ำเสียทิ้งลงทะเล ด้านกรมทรัพยากรฯ ยันท้องถิ่นมีอำนาจในการกำกับดูแล แต่หากไม่ดำเนินการอาจเข้าข่าย 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่



วันนี้ ( 28 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่เมืองพัทยา ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงมาตรการควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะการให้บริการ เรือภัตตาคารบริเวณกลางอ่าวพัทยา ของภาคเอกชนที่ไม่ทราบว่ามีการบริหารจัดการระบบขับถ่ายของเสีย และการจัดทิ้งขยะ ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยภาคประชาชนหวั่นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้เสียภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา
 
 
อีกทั้งประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ยังกำหนดให้ท้องที่เมืองพัทยา เป็นเขตควบคุมมลพิษ (ลงนามวันที่ 7 สิงหาคม 2553) และตามประกาศ ข้อ 8 (11) ห้ามกระทำหรือประกอบกิจการเรือภัตตาคาร เรือสถานบริการ การเดินท่องเที่ยวใต้ทะเล (Sea Walker) หรือการทอดสมอเรือในแนวปะการังนั้น


ล่าสุด พลตำรวจตรีบัณฑิต คุณจักร์ รองนายกเมืองพัทยา ได้เป็นประธานการประชุมหารือ แก้ไขปัญหาขยะจากเรือภัตตาคาร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐเกี่ยวกับแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC โดยมี นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง ,นายอนันต์ พรหมดนตรี ผู้อำนวยการกรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี ,นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี



พร้อมเผยว่า หลังได้รับเรื่องร้องเรียน เมืองพัทยา ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันภัยพิบัติทางทะเลลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีเรือภัตตาคารลอยอยู่กลางอ่าวพัทยา จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือนาวาจักรพรรดิ์ ,เรือพิริยพงษ์ และเรือนิวโอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นเรือภัตตาคารและแสดงโชว์ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาใช้บริการวันละหลายพันคน ขณะที่ระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของเรือ ทราบว่าได้มีการนำขยะใส่ถุงพลาสติกสีดำมากองไว้ที่บริเวณท้ายเรือ เพื่อรอการขนถ่ายสู่ฝั่ง ขณะที่บริเวณโดยรอบตัวเรือและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่พบการทิ้งขยะลงสู่ทะเลแต่อย่างใด



"ที่ผ่านมา พบว่าเรือภัตตาคารเหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม สาขาเกาะล้าน เป็นผู้จัดเก็บขยะทั้งหมด โดยใช้บริการเรือขนถ่ายขยะของเมืองพัทยาในการจัดเก็บขึ้นฝั่งเพื่อนำไปที่โรงพักขยะที่สุขุมวิทซอย 3 โดยคิดค่าธรรมเนียมการจัดเก็บอยู่ที่เดือนละ 12,000 บาท ในการจัดเก็บขยะปริมาณวันละ 1.5 ตัน แต่หลังจากที่เรือขนถ่ายขยะของเมืองพัทยา ชำรุดและไม่สามารถจัดเก็บขยะได้ ผู้ประกอบการ จึงได้ว่าจ้างภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน "


พล.ต.ต.บัณฑิต ยังกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบหลักฐานว่ามีเพียงการได้รับการอนุญาตจากกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้องเท่านั้น ขณะที่เรือเหล่านี้มีการขอจดทะเบียนเรืออย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นความรับผิดชอบจากกรมเจ้าท่า ไม่ใช่สำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาพัทยา เนื่องจากเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีความยาวกว่า 24 เมตร



ผอ.กรมทรัพย์ฯ เผยเมืองพัทยา มีอำนาจจัดการตาม พ.ร.บ.
 
ด้าน นายอนันต์ พรหมดนตรี ผู้อำนวยการกรมทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี เผยว่ากระทรวงฯได้มอบอำนาจให้เมืองพัทยา เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2535 อยู่แล้ว แต่เมืองพัทยา ยังขาดความเข้าใจในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ข้อเท็จจริงแล้วเมืองพัทยา มีอำนาจในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นไปตามข้อห้ามในประกาศที่กำหนดไว้ ทั้งเรื่องของการอนุญาต การอนุมัติ การสั่งยกเลิก เพื่อนำไปควบคุมกำกับดูแลการประกอบการ นอกจากนี้เมื่อกระทรวงมอบหมายให้เมืองพัทยาดำเนินการแล้ว แต่เมื่อพบว่ามีการกระทำผิด กรณีนี้ก็อาจจะเข้าข่ายว่าเมืองพัทยาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลย หรือเข้าข่ายความผิดละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายในมาตร 157 ได้


ส่วนการประกอบกิจการของเรือภัตตาคาร ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถประกอบกิจการได้หากดำเนินการก่อนที่จะมีประกาศกระทรวงทรัพยากร ในปี 2553 ซึ่งจากการสอบถามก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่าเรือทั้ง 3 ลำ และที่มีการขออนุญาตจอดเพิ่มอีก 1 ลำ รวมเป็น 4 ลำนั้นมีการขออนุญาตประกอบกิจการก่อนหรือไม่ ทราบเพียงแต่ใบอนุญาตที่ได้รับนั้น เป็นเพียงใบอนุญาตจอดรถเรือ จากกรมเจ้าท่าและใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบริการจากอำเภอบางละมุงเท่านั้น


"สำหรับใบอนุญาตการประกอบกิจการประเภทเรือภัตตาคารนั้นยังไม่พบ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเมืองพัทยาสามารถสั่งระงับการประกอบกิจการได้ หรือจะมีมาตรการในการผ่อนผันกิจการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีกิจการดังกล่าวเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นต้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลการจะอนุญาตให้เปิดกิจการอย่างถูกต้องนั้น เมืองพัทยาเองต้องเข้มงวดในการออกมาตรการที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลและขยะในการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้เมืองพัทยาจะ ต้องนำเสนอเรื่องมายังสำนักงานสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้มีการดำเนินการประกอบกิจการเรือภัตตาคารต่อไปด้วย"

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะต้องร่วมประชุมอีกครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นกรณีที่การประกอบกิจการจะต้องไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่สำคัญความชัดเจนของเมืองพัทยา ในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น