xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ทช.ยืนยันสำรวจพบฉลามหัวบาตร 6 ตัว ที่วัดถ้ำเขาเต่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - นักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) ลงเรือตรวจการณ์กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ดูแนวเส้นทางที่ฉลามหัวบาตรใช้ว่ายหากิน ตั้งแต่หาดทรายใหญ่ หาดทรายน้อย มาจนวัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งผ่านมา 4 คืน พบว่า มีปลาฉลามหัวบาตรขึ้นมา 6 ตัวเท่านั้น โดยมีขนาดตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึง 2 เมตร ส่วนใหญ่ช่วงนี้จะพบเห็นในช่วงกลางคืนเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง

วันนี้ (23 เม.ย.) ความคืบหน้าการสำรวจติดตาม ฉลามหัวบาตร ล่าสุด วันนี้ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี และ น.ส.ทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) และ สพ.ญ.วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) ตลอดจนเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งนำคณะสื่อมวลชนลงเรือตรวจการณ์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเรือยาง แล่นดูสภาพแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า จุดที่พบปลาฉลามขึ้นหลายคืนที่ผ่านมา ไปจนถึงบริเวณหาดทรายน้อย จุดที่จะมีการติดตั้งทุ่นวางตาข่ายป้องกันปลาฉลาม

น.ส.ทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) กล่าวว่า จากการบินสำรวจโดยใช้อากาศยานไร้คนขับไปแล้ว และครั้งนี้ได้ใช้การสำรวจแล่นเรือดูสภาพพื้นที่ทางทะเล เป็นจุดที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาตลอด 4 วันที่ผ่านมาในช่วงเย็นไปจนถึงช่วงเช้ามืด ในการสังเกตพฤติกรรมของปลาฉลามที่ว่ายเข้ามาหากิน ทั้งที่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า 2 จุด ทั้งที่รูปปั้นเต่า และบริเวณศาลาหลังใหญ่ เข้ามากินลูกปลาขนาดเล็ก

ขณะนี้สามารถยืนยันได้ว่า บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า มีปลาฉลามหัวบาตรอย่างน้อย 6 ตัว ที่จดบันทึกไว้ได้ แต่ละตัวมีขนาดตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึง 2 เมตรครึ่ง โดยพบว่าจะว่ายมาให้เห็นในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ดังนั้น ในวันนี้จึงได้ลงเรือสำรวจบริเวณที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางที่ฉลามหัวบาตร มีความเป็นไปได้ว่าจะว่ายมาจากบริเวณหาดทรายใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพระราชฐาน พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีการทำการประมง จึงทำให้มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ ประกอบกับบริเวณหัวเขาหาดทรายใหญ่รอยต่อกับบริเวณหาดทรายน้อย ยังพบว่าเป็นแนวหินขนาดใหญ่ และขนาดเล็กที่เรียงรายขอยู่บริเวณชายหาด

รวมทั้งแนวหินบริเวณหาดทรายน้อยไปจนถึงบริเวณวัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของปลาฉลามที่พบ ซึ่งขนาดตัวอาจจะยังไม่โตเต็มวัย น่าจะเป็นลูกฉลามก็เป็นได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของชาวประมงพื้นบ้านเขาเต่า ที่พบว่า ปลาฉลามที่ว่ายหากินอยู่ในแถบนี้น่าจะมีที่อยู่อาศัยในบริเวณหาดทรายใหญ่ เพราะชาวประมงเคยพบเห็น และติดอวนขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ทางนักวิชาการจะได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลแพร่กระจายของปลาฉลามหัวบาตรจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.ชะอำ อ.หัวหิน และอำเภอ ปราณบุรี เพื่อรวมรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้ในช่วงนี้นำเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้รับทราบต่อไป

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี ก็ดูพื้นที่บริเวณหาดทรายน้อย สำหรับในการทดลองติดตั้งทุ่นไข่ปลาความยาวประมาณ 400 เมตร ที่หาดทรายน้อย ซึ่งจะเริ่มลงมือติดตั้งได้ในวันพรุ่งนี้ และจะแล้วเสร็จในวันพุธนี้

รวมทั้งการลงพื้นที่นัดชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ชาวบ้าน และชาวประมงในพื้นที่หมู่บ้านเขาเต่า ให้รับทราบถึงการดำเนินการติดตั้งทุ่น และวางตาข่ายป้องกันฉลาม เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสามารถดูทุ่นไข่ปลาทดลองได้ สำหรับการติดตั้งทุ่น และวางตาข่ายเพื่อป้องกันฉลามในส่วนของที่เป็นของจริงนั้น ซึ่งแบบล่าสุดจะเป็นรูปลักษณะแบบสี่เหลี่ยม

เบื้องต้น บริเวณหาดทรายน้อย ขณะนี้ก็ยังคงงดห้ามลงเล่นน้ำอยู่ไปจนกว่าจะมีการติดตั้งทุ่น และวางตาข่ายจนเสร็จสมบูรณ์ก่อน





กำลังโหลดความคิดเห็น