xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดี ทช.ส่งผู้เชี่ยวชาญเสริมทัพสำรวจฉลามหัวหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ดูจุดติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายที่บริเวณหาดทรายน้อย เน้นย้ำก่อนลงมือจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมโครงการวิจัยศึกษาฉลาม

วันนี้ (20 เม.ย.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วยนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่ารากชารจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี (สบทช 4 ) นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี

นางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) สพ.ญ.วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน,พ.ต.อ.ธนากร วงศ์สิริลักษณ์ ผกก.สภ.หัวหิน พ.ต.ท.ขจรยศ ทรงประดิษฐ์ สว.ตร.น้ำปราณบุรี และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณหาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดูพื้นที่และแนวการติดตั้งทุ่นและการวางตาข่ายเพื่อป้องกันฉลาม

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่าโดยจุดที่มีการดำเนินการหลังเสร็จแล้วนักท่องเที่ยวก็จะสามารถลงเล่นน้ำอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับช่วงนี้ประมาณ 20 วันของดการลงเล่นน้ำทะเลไปก่อน นอกจากนั้นจะต้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วยเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะจัดส่งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยในเรื่องของการวางทุ่นและการวางตาข่ายร่วม แต่ในขณะเดียวกันการดำเนินการในเรื่องของอุปกรณ์ก็ทำควบคู่กันไป ในสัปดาห์หน้าจะให้เจ้าหน้าที่นำทุ่นไข่ปลากั้นแนวเขตลงมาวางเพื่อประเมินก่อนระยะแรกว่าจะต้องวางทุ่นและวางตาข่ายลงไปลึกขนาดไหน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวด้วยว่าในส่วนของการพบฉลามในพื้นที่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่านั้นซึ่งข้อมูลทางวิชาการยังยืนยันว่าเป็นฉลามหัวบาตร ส่วนสำคัญคือการลงสำรวจในครั้งนี้เพื่อดูระบบนิเวศของปลาฉลาม ตั้งแต่เส้นทาง และการพบเห็น ถึงความเป็นอยู่ของปลาฉลามที่นี่ ในขณะนี้บริเวณดังกล่าวจะมีแต่ปลาฉลามหัวบาตรหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้อาจจะมีปลาฉลามหลายชนิดก็เป็นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย และจะเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ต่อไป ซึ่งอาจจะต้องการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในอนาคต และยืนยันว่าในปัจจุบันไม่พบว่ามีการล่าปลาฉลามแต่อย่างใด

สิ่งหนึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าระบบนิเวศวิทยาของท้องทะเลมีการฟื้นตัว เพราะมีการพบสัตว์ทะเลหายากพบมากขึ้นในท้องทะเลอ่าวไทย และอันดามัน ได้เน้นย้ำให้การสำรวจเป็นไปตามหลักการและขั้นตอนต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้ โดยเฉพาะการจัดเจ้าหน้าที่ประจำนับจำนวนที่วัดถ้ำเขาเต่าตั้งแต่ช่วงเวลาเย็นถึงเช้า (16.00 น.-08.00 น.) ต้องทำต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์และต้องรายงานผลให้รับทราบถึงความคืบหน้าเป็นระยะ

ในขณะเดียวกันการสำรวจและศึกษาเส้นทางของฉลามหัวบาตรในพื้นที่ระหว่างหาดทรายใหญ่ หายทรายน้อย จนถึงวัดถ้ำเขาเต่านั้น ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะดำเนินการอย่างจริงจังเหมือนการสำรวจวาฬบรูด้า ในสัปดาห์หน้านี้จะมีการเสริมทีมนักวิจัยเข้ามาทำการศึกษาร่วมกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพิ่มเติมจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมโครงการวิจัยศึกษาฉลามร่วม กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ในขณะเดียวกัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เดินทางไปยังวัดถ้ำเขาเต่าและเข้าพบกับพระครูอภิญญาราม เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า เพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมของการพบเห็นฉลามที่เข้ามาว่ายหากินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมดูจุดที่บริเวณปลาฉลามเข้ามา และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่นักวิชาการของกรมที่เข้ามาสำรวจ




กำลังโหลดความคิดเห็น