เชียงราย – “อ.เฉลิมชัย” นำทีมศิลปินทั่วเมืองพ่อขุนฯนับร้อยชีวิต จับมือจังหวัดฯ ประกาศแผนผลักดันให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ ควักกระเป๋าตัวเองร่วม 3 ล้าน ประเดิมดึงชาวบ้านทุกอำเภอร่วมปลุกกระแสจาก “เจียงฮายเกมส์” หวังอีก 10 ปี เป็นเหมือนญี่ปุ่น-ฝรั่งเศสได้
อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ได้นำศิลปินจากทั้ง 18 อำเภอ ร่วมประกาศแผนพัฒนาจังหวัดด้วยศิลปะ ในที่ประชุมนโยบายแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จ.เชียงราย และพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเสพติดในพื้นที่ชั้นในและตามแนวชายแดน ที่จังหวัดฯจัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สุดสัปดาห์นี้ ท่ามกลางนายอำเภอ-กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วจังหวัด ที่เข้าร่วมประชุม
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาลจึงเลือกเชียงราย นครราชสีมา และกระบี่ ส่งเสริมให้เป็นเมืองศิลปะในแต่ละภูมิภาค โดยเชียงรายเป็นอันดับแรก เพราะเรามีศิลปินครบวงจรทุกแขนงมากที่สุดรวมกันแล้วกว่า 400 คน ดังนั้นเพื่อให้ศิลปะนำประโยชน์ต่อเชียงรายทั้ง 18 อำเภอในระยะยาว
โดยจะเริ่มต้นด้วยการร่วมกันจัดกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 36 "เจียงฮายเกมส์" ระหว่าง 18-22 พ.ย.61 นี้ก่อน ซึ่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่นถือว่าเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด สามารถสร้าง-นำกระแสกีฬาแห่งชาติไปสู่คนเชียงรายได้ งานแรกคือ สร้างขบวนแห่หรือแฟนซีกีฬา ตามถนนเข้าจังหวัดทุกสาย เช่น มีธงทิวกีฬา ตัวมาสคอร์ต เป็นซุ้มๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนที่ประดับอยู่ตามถนน ให้ตื่นตาตื่นใจ
ซึ่งศิลปินที่อยู่ในแต่ละอำเภอ เข้าไปช่วยนายอำเภอจัดงาน และให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ให้เขาได้ทำศิลปะทุกชิ้น แล้วทำเป็นขบวนแห่มายังตัวเมืองเพื่อโชว์นักท่องเที่ยว จนกลายเป็นปฏิทินการท่องเที่ยวล่วงหน้า 20 วันก่อนเริ่มกีฬาแห่งชาติ ศิลปะทุกชิ้นที่แห่มาก็จะนำกลับไปแสดงในอำเภอของตัวเอง
“ผมได้เตรียมเงินส่วนตัวของผมให้แต่ละอำเภอ เบื้องต้นอำเภอละ 50,000 บาท ทั้งจังหวัดรวม 2.9 ล้าน เพื่อนำไปดำเนินการ โดยไม่ใช้เงินของจังหวัดเลย แต่ผมทำเพื่อเชียงราย จากนั้นแต่ละอำเภอก็ไประดมทุกกันเพิ่มเติม ส่วนขบวนที่ชนะได้เงินรางวัล 1 ล้านบาท ที่ 2 ได้เงินรางวัล 500,000 บาท ที่ 3 ได้เงินรางวัล 300,000 บาท"
อาจารย์เฉลิมชัย ย้ำว่า กิจกรรมเหล่านี้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสามัคคี และช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ทำให้เชียงรายกลายเป็นเมืองศิลปะไปด้วย ซึ่งตนหวังว่าหลังเสร็จสิ้นงานกีฬาแห่งชาติไปแล้ว 10 ปี จะเกิดศิลปะท้องถิ่น ที่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้
“อย่างญี่ปุ่น แต่ละหมู่บ้านจะมีร้านเล็กๆ ที่มีของขวัญของฝากที่เป็นงานศิลปะเล็กๆ น้อยๆ จนถึงอาหารและอื่นๆ วางขาย ขณะที่เรามีศิลปินมากมาย หลากหลายทั้งกระดาษสา แกะสลักไม้ ฯลฯ ซึ่งสามารถพัฒนาได้ในอนาคตแต่ละอำเภออาจมีศูนย์ใหญ่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว จัดแสดงและจำหน่ายสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี”
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ตัวอย่างที่วัดร่องขุ่น ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมาก ตนก็เปิดให้ศิลปินนำผลงานไปขาย ปรากฎว่าขายดิบขายดี ดังนั้นเราจำเป็นต้องกระจายไปทุกอำเภอ ให้เชียงราย เป็นเมืองศิลปะ และชาวบ้านมีส่วนร่วมรับรายได้ด้วย
“ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่านักท่องเที่ยวมาเชียงราย เพราะเขาสนใจงานศิลปะ ตัวอย่างวัดร่องขุ่นแห่งเดียว คนมากันเต็มไปหมด เครื่องบินมาวันละหลายเที่ยว ทางบกอีกทุกสารทิศ ล่าสุดสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีน ก็มาทำสารคดีตนถึง 7 วัน 7 คน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและต่างชาติมาเยือนวัดวันละ 3,000-4,000 คนหรืออย่างต่ำที่สุดคือ 3,200 คน ไม่รวมคนไทย เราจึงต้องหาทางขยายไปยังแต่ละอำเภอ ที่มีวัดที่สร้างได้อย่างงดงาม ทางอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสามารถไปร่วมกับวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้”
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าศิลปะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เชียงรายได้ โดยเฉพาะการดึงเด็กเยาวชนเข้ามาร่วม อย่างฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีนักท่องเที่ยวมาก เพราะมีการดูแลรักษาโบราณสถานและศิลปะไว้อย่างดี รวมถึงมีเรื่องเล่า
“ถ้าเชียงรายเราเดินไปถูกทางเช่นนี้ คาดว่าอีก 10 ปีเราจะไม่น้อยหน้าฝรั่งเศสและญี่ปุ่นแน่นอน ซึ่งการพัฒนาจะเริ่มต้นจากการร่วมกันจัดงานกีฬาแห่งชาตินี้ก่อนและค่อยดำเนินการด้านอื่นๆ ต่อไป”