พิษณุโลก - ผอ.รพ.พุทธชินราชแจงผลการผ่าตัดช่วยชีวิตทารกเพศชายคลอดก่อนกำหนด-หน้าท้องเปิด หลัง ฮ.กองกำลังนเรศวรรับจากอุ้มผางส่งรักษาต่อที่พิษณุโลก ล่าสุดอาการพ้นวิกฤตแล้ว แม้จะหยุดหายใจขณะเดินทางแต่ช่วยฟื้นคืนชีพกลับมาได้
วันนี้ (27 มี.ค.) นายแพทย์ สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงอาการทารกแรกเกิด เพศชาย ที่คลอดก่อนกำหนดที่ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก และมีอาการผิดปกติหน้าท้องเปิด ที่ถูกส่งมาจาก อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังนเรศวร และส่งเข้ารักษาที่ รพ.พุทธชินราช เมื่อวานนี้
นายแพทย์ สุชาติเปิดเผยว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด มีอายุครรภ์ประมาณ 36 สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิด 1,950 กรัม เกิดที่ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก เมื่อเวลา 08.40 น. มารดาอายุ 16 ปี โดยก่อนลงจากเฮลิคอปเตอร์ประมาณ 5 นาทีได้รับข้อมูลจากทีมแพทย์ที่มากับผู้ป่วยว่าทารกหัวใจหยุดเต้น ทีมแพทย์ที่อยู่บนเครื่องได้ทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) เพื่อช่วยเหลือชีวิตอยู่ประมาณ 10 นาที แต่หัวใจก็ยังไม่เต้น
เมื่อเฮลิคอปเตอร์มาถึงท่าอากาศยานกองบิน 46 พิษณุโลก ทีมแพทย์นำโดย แพทย์หญิง อารียา ดีสมโชค และพยาบาลเฉพาะทางทารกแรกเกิด รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ได้เข้ารับผู้ป่วยต่อ พร้อมช่วยเหลือฟื้นคืนชีพทันที และให้ยากระตุ้นหัวใจ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีหัวใจก็กลับมาเต้นอีกครั้งเป็นปกติ และสีผิวแดงขึ้น หลังจากนั้นเมื่ออาการทารกคงที่จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาที่หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก
กระทั่งเวลา 13.25 น. วันเดียวกัน (26 มี.ค.) สัญญาณชีพก็กลับมาเป็นปกติ จึงได้ประสานงานกับกุมารศัลยแพทย์ทันที โดยแพทย์หญิง เยาวลักษณ์ คำนวณ ได้เข้ามาดูอาการผู้ป่วย และเข้าห้องผ่าตัดในเวลาประมาณ 15.45 น. ดำเนินการผ่าตัดโดยการใส่ถุงหุ้มลำไส้เทียม (Artificial sac)
“ขณะนี้อาการทารกแรกเกิดรายนี้พ้นวิกฤตแล้ว แต่ยังคงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้สารอาหารทางหลอดเลือดร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะ ขณะนี้สัญญาณชีพเป็นปกติ ค่าก๊าซในเลือดปกติ และต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป”
ผอ.พุทธชินราชกล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลอุ้มผางที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี โรงพยาบาลตากสินมหาราชที่ให้การดูแลขณะเดินทาง และเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 กองบิน 46 พิษณุโลก และขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นกำลังใจและสนับสนุนการช่วยเหลือหนูน้อยในครั้งนี้
นายแพทย์ สุชาติกล่าวอีกว่า ถ้าเทียบกับเมื่อวาน ขณะนี้ทารกพ้นวิกฤตแล้ว แต่ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และต้องติดตามอาการการรักษาหลังผ่าตัดช่องท้องอีกสักระยะ และที่ต้องติดตามในระยะยาวคือ ภาวะหัวใจหยุดเต้น เพราะน้องหัวใจหยุดเต้นไปประมาณ 20 นาทีตั้งแต่บนเครื่อง และมีการช่วยปั๊มหัวใจหลังจากลงจากเครื่อง ผลทางสมองอาจจะมีบ้าง แต่ตรวจขณะนี้ไม่ได้ ถ้าน้องผ่านตรงนี้ไปได้ก็มีคลินิกตรวจติดตามพัฒนาการต่อเนื่อง