xs
xsm
sm
md
lg

จี้ กฟผ.เร่งทำแผนกันดินทิ้งเหมืองแม่เมาะ 2.2 หมื่นไร่สไลด์-ทรุดตัวซ้ำรอยอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - อุตสาหกรรมจังหวัดลำปางทำหนังสือจี้ กฟผ.เร่งทำแผนกู้สภาพพื้นที่เกิดเหตุดินสไลด์ พร้อมแนวทางป้องกันจุดทิ้งดินทั้งหมดกว่า 2.2 หมื่นไร่ภายใน 15 วัน เผยกองดินทิ้งร่วม 100 ล้านคิวสไลด์ตัวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จำเป็นต้องหาทางฟื้นความเชื่อมั่นประชาชน

วันนี้ (21 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีกองทิ้งดินด้านตะวันตกของเหมืองแม่เมาะ พื้นที่หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เกิดการสไลด์ตัวเมื่อเวลา 01.01 น. วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง, สายพานลำเลียงดิน และถนนเลียบคลองส่งน้ำบางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข

แม้ทาง กฟผ.จะยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ตาม แต่ขณะนี้ได้มีชาวบ้านเข้าแจ้งความคนหายไว้ที่ สภ.แม่เมาะ 1 ราย คือ นายภัททิยา บัวงาม อายุ 25 ปี หรือตูน ชาวบ้านผาแมว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่จะสัญจรผ่านถนนดังกล่าว หลังทำงานที่ร้านอาหารเสร็จในเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว แต่ได้หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

ล่าสุดนายสมศักดิ์ หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ซึ่งมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ทิ้งดินของเหมืองแม่เมาะที่มีจำนวนทั้งสิ้น 22,000 ไร่เศษ และคืนความสะดวกให้แก่ประชาชน จึงได้ทำหนังสือถึง กฟผ.ให้ดำเนินการ 3 ข้อให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน คือ

1. ให้จัดทำ-ส่งแผนเกี่ยวกับการแก้ไข และจัดการความปลอดภัยของประชาชน พร้อมทั้งคืนความสะดวกแก่ประชาชนในเส้นทางดังกล่าว
2. จัดทำและส่งแผนการกู้สภาพพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียง ซึ่งคาดว่าจะกินพื้นที่ประมาณกว่า 300 ไร่
3. สำรวจพื้นที่ทิ้งดินที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันนอกเหนือจากบริเวณที่เกิดเหตุทั้งหมด รวมทั้งบริเวณพื้นที่ทิ้งดินอื่นที่เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวก็มีความเป็นห่วงกันมาก เพราะไม่เคยเกิดเหตุดินสไลด์ตัวบริเวณที่ทิ้งดินขนาดใหญ่ลักษณะนี้มาก่อน เพื่อทำแผนป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นายสมศักดิ์ หวลกสิน อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง
นายสมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กฟผ.จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพราะดินสไลด์จากการทิ้งดินที่มีมากกว่า 80-100 ล้านคิวนั้นไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องทบทวนว่าบริเวณดังกล่าวยังจะสามารถทิ้งดินได้ต่อไปหรือไม่ หรือจะต้องใช้วิธีการไหนมาทำควบคู่ไปกับการทิ้งดินเพื่อไม่ให้เสียสมดุล หรือจะต้องมีการทยอยกลบบ่อเดิมไปก่อน โดยไม่ต้องรอใกล้ครบกำหนดสัมปทาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชนให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น