เชียงราย - เถ้าแก่ทัวร์นำเที่ยว 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบน แห่ร่วมเวทีสร้างเครือข่าย 5 เชียง ปัดฝุ่นเส้นทางทัวร์เชียงใหม่-เชียงราย-เชียงตุง-เชียงรุ้ง-เชียงทอง เชื่อเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าพื้นที่ปีละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ไม่ไกลเกินฝัน
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ร่วมกับสมาคมสหพันธุ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด , สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุม "การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว 5 เชียง (เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงทอง) ขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์นี้
โดยมีนายสมบูรณ์ ศิรเวช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และนายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย , นายจอมศรี ลัดตะนะปัน รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว-นายสุลิทิบ น่อคุนผน หัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว , นายผาน จิน รองกงสุลใหญ่แห่งประเทศจีนประจำ จ.เชียงใหม่ นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ทั้งไทยโดยเฉพาะเชียงรายและเชียงใหม่-มณฑลยูนนาน ประเทศจีน-สปป.ลาว และเมียนมา เข้าร่วมกว่า 200 ราย
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมาพบว่านักท่องเที่ยวจากพื้นที่ 5 เชียง โดยเฉพาะจากจีน เดินทางมาท่องเที่ยวที่เชียงราย และเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.51 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก การสร้างเครือข่ายร่วมกันจึงสำคัญมาก เพราะจะได้ช่วยกันพัฒนาตลาดร่วม จนสร้างความประทับใจดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามามากขึ้น
ขณะที่ในงาน ก็มีการเสวนาเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยว 5 เชียง โดยนักวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว 5 เชียง ระดมสมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวร่วมกัน ศึกษาดูงานสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย และจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว 5 เชียง ระหว่างเครือข่ายจากทั้ง 5 เชียง 4 ประเทศด้วย
นายกิตติ ทิศสกุล นายกสมาคมสหพันธุ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวบนเวทีเสวนาเรื่อง "ความเชื่อมโยงของเส้นทางบก ทางเรือ ทางอากาศ กับโอกาสภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการค้าการลงทุน" ว่า คนพูดถึงคำว่า 5 เชียง มานานร่วม 20 ปีแล้ว ตอนนี้ 5 เชียงก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเชื่อมกลุ่มอาเซียน-จีน สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-จีน-สปป.ลาว-เมียนมา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม จะต้องร่วมกันการเขียนแผนการท่องเที่ยวสู่ตลาดทั่วโลกให้ได้ต่อไป
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจนำเที่ยวลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การเชื่อมโยงการคมนาคมในเขต 5 เชียง มีแนวโน้มดีมาก กรณีเมืองเชียงตุง เขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีด่านถาวรติดกับไทยเพียง 1 จุดเท่านั้นคือ จ.ท่าขี้เหล็ก เชื่อมกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ห่างจากเชียงตุง เล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันกำลังพิจารณาเปิดใช้ระบบวีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (VISA ON ARRIVAL) ส่วนรถ ก็มีข้อตกลงใช้รถระหว่างเชียงราย-เชียงตุง ทั้งยังมี 8 สายการบิน ที่เปิดเส้นทางบินมาที่ท่าขี้เหล็ก
นอกจากนี้รัฐฉาน ยังมีเมืองมูเซ จ.ลาเชียว ที่เชื่อมกับเมืองรุ่ยลี่-เต๋อหง เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ มณฑลยูนนาน สป.จีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าร่วมกันมหาศาล สามารถเชื่อมจีน-ตองจี-เชียงตุง ได้ ด้านเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ถือว่ามีการพัฒนาและมีนักท่องเที่ยวจีนทะลักลงมามากอยู่แล้ว ปัจจุบันจีนสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมจากกาลันป้า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะรัฐฉาน-หลวงพระบาง สปป.ลาว ด้วย
ส่วนหลวงพระบางนั้นเป็นตลาดท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเชียงใหม่-เชียงราย มีการเดินทางผ่านทางเรือแม่น้ำโขงจาก อ.เชียงของ หรือทางบกผ่าน สปป.ลาว เป็นประจำอยู่แล้ว
“พื้นที่ 5 เชียง มีพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว หากมีการพัฒนาคมนาคมถึงระดับหนึ่ง และมีการใช้ VISA ON ARRIVAL อย่างสมบูรณ์ในแต่ละประเทศมากขึ้น ยอดนักท่องเที่ยวที่ฝันกันเอาไว้ที่ปีละ 30 ล้านคน ก็มีโอกาสเป็นไปได้แน่นอน"
นายวิสูตร คำยอด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานได้รับอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะสภาพของสนามบินที่ จ.เชียงใหม่ กำลังแออัดเต็มที่แล้วจึงต้องมีสนามบินข้างเคียงรองรับ
ซึ่งเชียงราย มีสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบิน และระหว่างประเทศ 5 สายการบิน อัตราการเติบโตตั้งแต่เดือน ก.ค.60-มี.ค.61 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 200-300% มีการบินเชื่อมทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ฮ่องกง และอีกหลายเมืองในประเทศจีน และจะมีการบินเชื่อระหว่างรุ่ยลี่-สิบสองปันนา-เชียงราย ในเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไปทุกวันจันทร์ พุธและศุกร์ รวมทั้งกำลังหารือกับสายการบินของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นให้บินมายังเชียงราย อีกด้วย
นายวิสูตร กล่าวอีกว่า การขยายตัวดังกล่าวทำให้การท่าอากาศยานได้พัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย หลายด้าน เช่น รันเวย์ให้มีช่องวิ่งเครื่องบินข้างรันเวย์หรือแท็กซี่เวย์ และอื่นๆ ระยะเวลา 5 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากการขยายตัวสูง จึงจะเสนอให้ปรับแผนเร่งให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 2 ระยะ
“คาดกันว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะไม่สามารถขยายตัวรับสายการบินได้อีกแล้ว โอกาสจึงอยู่ที่เชียงราย และจากภูมิศาสตร์ เชียงรายสามารถบินไปยังกรุงย่างกุ้ง เมียนมา , หลวงพระบาง สปป.ลาว และเชียงรุ้ง-คุนหมิง สป.จีน ด้วยระยะเวลาเท่าๆ กันคือประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น นับว่าได้เปรียบกว่าสนามบินอื่นๆ มาก”
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เวทีนี้ยังเปิดให้เครือข่ายจากประเทศต่างๆ ได้แสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่นำเสนอว่า การคมนาคมแต่ละประเทศพัฒนามากขึ้น เช่น แขวงบ่อแก้ว และหลวงพระบาง มีการสร้างถนนเป็นเครือข่ายเชื่อมกับ 5 เชียงมากขึ้น ส่วนรัฐฉาน ก็มีการจัดระบบเข้าออกเมืองที่สะดวกขึ้น ไม่ใช่ดินแดนที่น่ากลัวเหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวยุโรปและอื่นๆ เข้าไปเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมที่จะเชื่อมเครือข่ายกับทุกประเทศ