จันทบุรี - รอง ผวจ.จันทบุรี ติดตามการวางแผนผนึกกำลังประชารัฐ แก้ปัญหาช้างป่า ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร พร้อมสร้างขวัญกำลังใจประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เบื้องต้น กำหนดแผนแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
วันนี้ (6 มี.ค.) นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ได้เดินทางลงพื้นที่ ม.9 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีช้างป่าประมาณ 30 ตัว พากันเดินจากเขาตาอินทร์ เข้าหากินในไร่มันสำปะหลัง และสวนยางของชาวบ้าน ม.10 ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่จะเวนคืนสำหรับทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วที่ติดตามเฝ้าระวังภัยช้างป่าให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งราษฎรจิตอาสา ชมรมพิทักษ์ป่า
จากนั้นได้ร่วมประชุมกับทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และราษฎรจิตอาสาชมรมพิทักษ์ป่า ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว เพื่อวางแผนบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ออกมาหากินสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรและพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอย่างมาก และยังมักเกิดปัญหาช้างป่าทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต
ทั้งนี้ ฝูงช้างป่าที่ออกหากินในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว มีทั้งสิ้น 131 ตัว แบ่งเป็น 5 ฝูง ฝูงใหญ่มีประมาณ 70 ถึง 80 ตัว หากินอยู่ใน ต.พวา รองลงมาประมาณกว่า 30 ตัว หากินอยู่ใน ต.ขุนซ่อง นอกจากนั้น ยังมีช้างดุร้ายที่แตกฝูงกระจัดกระจาย ทำให้ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังภัย และอยู่ด้วยความหวาดผวา ไม่กล้าออกไปกรีดยาง และทำสวนผลไม้
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ปัญหาช้างป่าเฉพาะหน้าในช่วงฤดูแล้งนี้ ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจัดชุดจิตอาสาเฝ้าระวัง แบ่งเวรยามทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน พร้อมทั้งส่งต่อกันอย่างเป็นระบบ ลดการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่า
ส่วนในระยะยาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จะสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมปรับปรุง และทำคูกั้นช้างเพิ่มเติม รวมทั้งการขุดสระน้ำ ปลูกพืชอาหารช้างในเขตป่าเขาอ่างฤๅไน สร้างความสมบูรณ์ ให้ช้างมีแหล่งอาหารกินอย่างเพียงพอเพื่อจะได้ไม่ออกมาหากินใกล้ที่อยู่อาศัยของราษฎร รวมทั้งปลูกพืชอาหารแนวตะเข็บป่ากันเขตแดนระหว่างป่า กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์