xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่งมาก! เปิดต้นแบบ “เกษตรชุมชนเมือง” โคราช แหล่งผลิตผัก-เห็ดปลอดสารพิษ ในพื้นที่อันจำกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นแบบเกษตรชุมชนเมือง  แหล่งผลิตผักและเห็ดปลอดสารพิษ บ้านเกาะราษฎร์สามัคคี ม.6  ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทึ่งมาก! เปิดต้นแบบเกษตรชุมชนเมือง “บ้านเกาะราษฎร์สามัคคี” โคราช ใช้พื้นที่อันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลายเป็นแหล่งผลิตเห็ดและผักปลอดสารพิษ สร้างอาหารปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน เผยภายใต้ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์พื้นที่แค่ 2 งาน สามารถสร้างงานสร้างรายได้งาม ให้สมาชิกกว่า 400 หลังคาเรือน

นายไชยา คูเมือง ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะราษฎร์สามัคคี ม.6  ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
นายไชยา คูเมือง ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะราษฎร์สามัคคี ม.6 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านเกาะราษฎร์สามัคคี มีทั้งหมด 415 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,200 คน ซึ่งเป็นชุมชนที่ถูกไล่รื้อมาจากเขตเทศบาลนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2539 ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและรับจ้าง เพราะเป็นชุมชนเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย และที่สาธารณหรือพื้นที่ส่วนกลางเหลือน้อยมากประมาณ 2 งาน เท่านั้น

ที่ผ่านมาประชาชนมีปัญหาเรื่องสุขภาพป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน คอเลสเตอรอล สูง ซึ่งเกิดจากการไม่ออกกำลังกายและการบริโภคอาหารที่มีสารพิษเข้าไปมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการปลูกผักกินเองเพื่อลดปัญหาการได้รับสารพิษหรือยาฆ่าแมลงและลดรายจ่ายครัวเรือนจากการซื้อผักตลาดที่มักเน่าเสียง่ายเพราะฉีดยาฆ่าแมลงโดยให้ประชาชนใช้กระถางทำจากยางรถยนต์เก่ามาปลูกพริก มะเขือ ต้นหอม ผักกาดเป็นต้น ไว้กินเองซึ่งสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้มาก


ขณะเดียวกันได้มีแปลงสาธิตหรือแปลงผักกลางที่ปลูกไว้ให้ประชาชนได้มาศึกษา ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ “ชุมชนบ้านเกาะราษฎร์สามัคคี” บนพื้นที่แค่ 2 งาน โดยภายในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งแปลงผัก ปุ๋ยอินทรีย์ สถานที่เพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติกและส่วนหนึ่งใช้เป็นโรงเรือนเพาะเห็ดภูฐานจำนวน 10,000 ก้อนแบ่งเป็น 2 โรงเรือนได้รับเงินสนับสนุน ทำเป็นโครงการแปลงเกษตรสาธิตผักสวนครัวรั้วกินได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามนโยบายของรัฐบาล มีตลาดรองรับ เช่น ตลาดขายส่งสุรนคร ,ตลาดย่าโม สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเดือนละกว่า 30,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ

“ การปลูกผักกินเอง ชมชนบ้านเกาะราษฎร์สามัคคี ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้หลายหน่วยงานมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนบริโภคผักปลอดสารพิษ และที่สำคัญการที่เราปลูกผักไว้กินเองง่ายกว่า ที่จะไปซื้อมาบริโภค จะกินเมื่อไหร่ก็ไปเด็ดสดๆ ได้เลย พอผลผลิตได้เยอะเหลือกิน ก็แบ่งปันกันไป ตามวิถีชีวิตของคนในชุมชน เครือญาติเกื้อกูลกัน และชาวบ้านเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และยังมีการแบ่งพื้นที่ทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้เองเพื่อให้มั่นใจว่าผักที่ปลูกต้องงปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์” นายไชยา กล่าว


ขณะที่ นางอรณัส การสรรพ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ บ้านเกาะราษฎร์สามัคคี แห่งนี้ จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี 2558 รัฐบาล คสช.ได้จัดทำนโยบาย แผนพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาภัยแล้ง โดยชุมชนบ้านเกาะฯ ได้รับงบประมาณจัดทำโครงการแปลงเกษตรสาธิตผักสวนครัวรั้วกินได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลังจากนั้น ปี 2560 ได้รับงบประมาณ อีก 400,000 บาท จากโครงการเพาะเห็ด 9101 ซึ่งโครงการทั้ง 2 โครงการ อยู่ในศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ แห่งนี้ เกษตรกรได้ดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจุดเรียนรู้ 7 ฐาน ประกอบด้วย 1. การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดภูฎานในโรงเรือน 2 . การแปรรูปเห็ดเพื่อเพิ่มมูลค่า 3.การปลูกผักผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษ 4. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ 5. การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า 6. การใช้ประโยชน์จากวัสดุวัสดุเหลือใช้ (การนำยางรถยนต์มาประดิษฐ์เป็นกระถางปลูกต้นไม้) และ 7. การประดิษฐ์กระถางอิ่มน้ำปลูกต้นไม้ ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สภาพสังคมดีขึ้น ประชาชนมีความรักสามัคคีกัน และ ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย


นอกจากนี้ทางเกษตรอำเภอยังได้ผลักดันให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( (ศพก.) ตำบลบ้านเกาะ” ขึ้นด้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบการทำการเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับชุมชน สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชน และเป็นศูนย์กลางการบริการและแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ กับเกษตรกรในชุมชนด้วย ภายใน ศพก. แห่งนี้มีฐานเรียนรู้ 6 ฐาน เช่น ฐานการเพาะเห็ดในโรงเรือน , ฐานการเลี้ยงปลาดุกในบ่อ, ฐานการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ ฐานการปลูกผักสวนครัวในวัสดุเหลือใช้ ,ฐานการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2 งาน ก็สามารถทำการเกษตรที่หลากหลายได้ ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแนวใหม่ที่สอดรับกับวิถีคนเมือง เช่น การนำเอาขวดพลาสติกมาทำเป็นกระถางปลูกพริกและผักอื่น ๆ การดัดแปลงท่อพีวีซีธรรมดามาเป็นแปลงปลูกผักแบบไฮโดรโปรนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้ให้เดือนละไม่น้อยกว่า 6,000 บาทด้วย นางอรณัส กล่าวในตอนท้าย

นางอรณัส การสรรพ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนครราชสีมา



กำลังโหลดความคิดเห็น