นครพนม - “หมอเหยา” ทั่วทั้งอำเภอนาแกผนึกพลังประกอบพิธีความเชื่อเลี้ยงผีหมอขอฝนให้ตกตามฤดูกาล สืบสานประเพณีโบราณท้องถิ่นอีสาน เชื่อทำให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ไม่ขาดแคลน และช่วยรักษาอาการเจ็บไข้ของชาวบ้านที่หาสาเหตุไม่เจอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านโพธิ์ศรี ต.บ้านแก้ง อ.นาแก จ.นครพนม ได้มีบรรดา “หมอเหยา” จำนวนกว่า 100 คน นำโดย นางรัตนา สุภาพรม อายุ 69 ปี ประธานกลุ่มหมอเหยา อ.นาแก จ.นครพนม ร่วมกันประกอบพิธีโบราณ “บุญเลี้ยงผีหมอ” ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ หรือที่เรียกกันอีกว่า ประเพณีแซงสนาม หรือเลี้ยงหมอเหยา ผีหมอ พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ห้วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
โดยจะมีหมอเหยา ซึ่งเปรียบเสมือนแม่หมอ ที่นับถือผี และเป็นคนที่สามารถประกอบพิธีสื่อสารกับผีบรรพบุรุษตามความเชื่อ มารวมตัวกันเพื่อทำพิธีไหว้ครู ถวายเครื่องเซ่นไหว้ ดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน เป็นการแสดงออกถึงความเคารพศรัทธาผีบรรพบุรุษ ไปถึงผีสางเทวดา ผีบ้านผีเรือน ที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน
จากนั้นจะมีการร่วมกันจัดกิจกรรมรื่นเริง ร้องรำทำเพลง ด้วยดนตรีอีสานพื้นบ้านพิณแคน ถือป็นการบูชาผีสางเทวดา ผีบรรพบุรุษ ให้มีความสนุกสนาน รื่นเริง และได้มารับเครื่องไหว้บูชา จะส่งผลให้คนในหมู่บ้านมีความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
อีกทั้งทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำนาได้ผลผลิตงอกงามตามความเชื่อ ไม่เกิดปัญหาภัยแล้ง
หมอเหยาแต่ละคนจะร่ายรำแสดงออกท่าทางที่แตกต่างกันไป เหมือนเป็นร่างทรง ที่เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งผีบรรพบุรุษจะมาประทับร่างหมอเหยาเพื่อร่วมกิจกรรม หลังมีการทำพิธีไหว้ครู ถวายเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบพิธีของบรรดาหมอเหยา นอกจากมีกิจกรรมรื่นเริง ยังมีพิธีเสี่ยงทาย ทำนายทายทักเกี่ยวกับเรื่องของฝนฟ้าอากาศ มีการตั้งดาบ และตั้งไข่ หากการกระทำใดเป็นที่พอใจของผีบรรพบุรุษจะสามารถตั้งได้ รวมไปถึงในอดีตเชื่อกันว่าการเสี่ยงทายสามารถทำนายว่าบุคคล หรือญาติพี่น้อง ลูกหลานเจ็บป่วยแบบไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งอาจจะมีการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี ทำให้ผีบรรพบุรุษไม่พอใจจนเกิดเจ็บป่วย
จึงต้องมีการทำพิธีขอขมาบอกกล่าว และถวายเครื่องบูชาเซ่นไหว้จึงจะหายเป็นปกติ เนื่องจากในอดีตไม่มีการรักษาที่ทันสมัย จึงต้องพึ่งผีสางเทวดา จึงยึดถือสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ประเพณีบุญเลี้ยงผีหมอเป็นความเชื่อของชาวบ้านในหลายอำเภอในพื้นที่ จ.นครพนม รวมถึงบางจังหวัดในภาคอีสานที่ยังยึดถือปฏิบัติ เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงผีหมอนอกจากช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว ยังช่วยในเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้าน เพื่อเสี่ยงทายหาสาเหตุ และทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้าย
พร้อมบนบานศาลกล่าวให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บไข้ ตามความเชื่อ ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านสืบทอดกันมายาวนาน