แพร่ - ส.ป.ก.แพร่รีบเข้าพื้นที่ชี้แจงกรณีรัฐฮุบที่ดินทำกินชาวบ้าน หลอกปลูกป่าสักเศรษฐกิจทิ้งเวลา 24 ปีตัดไม้ไม่ได้ทั้งๆ ที่มีใบ ส.ป.ก. ด้านพ่อเมืองแพร่เสนอตัวประสานทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกันในการแก้ปัญหา
จากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านในหมู่ 12 บ้านปางมะโอ ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ จำนวน 253 รายที่นำที่ดินของตนเองที่ถือครองมานับ 100 ปีไปขึ้นทะเบียน ส.ป.ก.4-01 ต่อมาในปี 2537 ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกป่าเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปลูกไม้สัก โดยมีเงินช่วยเหลือจำนวนไร่ละ 3,000 บาท พร้อมทั้งนำไปเข้าสู่การอบรมให้ความรู้วิธีการปลูกและช่องทางการตลาดในอนาคต
ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากนำที่ดินที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 พร้อมทั้งผู้ที่ได้เพียงเอกสารเป็นใบสอบสวนสิทธิของ ส.ป.ก. คือรังวัดแล้วรอการออกเอกสารสิทธิ นำไปเข้าโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจดังกล่าวตามที่ป่าไม้อำเภอวังชิ้น และป่าไม้จังหวัดแพร่ เข้าไปส่งเสริมในช่วงของนายสมาน ทนันไชย รักษาการป่าไม้จังหวัดแพร่ ทำหน้าที่ดังกล่าว
เวลาได้ผ่านไปนานถึง 24 ปี ทำให้ไม้สักมีขนาดใหญ่เส้นรอบวงของลำต้นถึง 100 เซนติเมตรแล้วพร้อมที่จะตัดออกจำหน่าย แต่เจ้าของสวนป่าไม่สามารถขอใบอนุญาตได้เนื่องจากป่าไม้และ ส.ป.ก.จังหวัดแพร่ไม่ออกใบอนุญาตให้ จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นกลวิธีของภาครัฐที่จะยึดที่ดินคืนจากชาวบ้านโดยวิธีฉ้อโกงหลอกให้ทำโครงการปลูกป่าเศรษฐกิจแล้วห้ามตัด ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่ปลูกไม้สักไปในช่วงดังกล่าวกว่า 1,500 ไร่
ล่าสุดสำนักงานปฏิรูปที่ดิน โดย นางธัญพร แพมงคล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ นางสาวอภิยดา อารินทร์ นิติกรชำนาญการ นายประพันธุ์ สมพินิจ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ ได้เข้าไปยังบ้านปางมะโอเพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ที่ศาลาการเปรียญวัดปางมะโอ โดยมีชาวบ้านเข้าฟังจำนวน 150 คน และแกนนำชาวบ้าน คือ นายรัญ สงวนต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 พระฐาปนพงษ์ ฐานิสสฺโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดปางมะโอ ร่วมฟังการชี้แจงด้วย
เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินชี้แจงถึงความเป็นมาของการออกรังวัดเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งมีการขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินอยู่นับหมื่นไร่ ตามนโยบายของรัฐซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดที่ดินทำกินของชาวบ้านและบางส่วนได้ออกใบ ส.ป.ก.ให้แล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่ามีการอนุมัติที่ดินป่าสงวนแห่งชาติให้เพียง 2,000 ไร่เศษเท่านั้น ทำให้ที่ดินที่รังวัดและออกใบ ส.ป.ก.บางส่วนไปแล้วกลายเป็นเอกสารที่ทับที่ของป่าไม้จำแนกออกเป็น 3 กรณี คือ
1. อยู่นอกเขต ส.ป.ก. 2. คาบเกี่ยวกับที่ดินของป่าไม้ และ 3. อยู่ในเขต ส.ป.ก. ในพื้นที่ที่ทับซ้อนและอยู่นอกเขต ส.ป.ก.จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินยังไม่เพิกถอนสิทธิของชาวบ้านแต่จะรอโครงการ one map เสียก่อนซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านได้
นางธัญพร แพมงคล ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่ทั่วประเทศ ในส่วนของจังหวัดแพร่ ได้หารือกับ นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ แล้ว ขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่มีเจตนาจะให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยเร็ว ซึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแก้ไม่ได้ ต้องมีการประชุมร่วมกันทุกฝ่าย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่พร้อมเป็นประธานในการแก้ปัญหาครั้งนี้
พระฐาปนพงษ์ ฐานิสสฺโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดปางมะโอ กล่าวว่า ถ้าทางราชการให้ความรู้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องก็คงจะได้คลี่คลายปัญหาไปนานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าทางราชการทำอะไรกันอยู่ถึงปล่อยให้ปัญหาที่ทางราชการสร้างขึ้นจนส่งผลต่อความยากจนของชาวบ้านไปแล้วในขณะนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นชาวบ้านไม่ได้ก่อแต่ต้องมารับกรรม
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ ส.ป.ก.มาชี้แจงก็ถือว่าเป็นผลดี ซึ่งทำให้เราทราบว่ากฎหมายป่าไม้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่การที่ป่าไม้เองก็ยังเข้ามาส่งเสริมปลูกป่าเศรษฐกิจ แสดงว่าน่าจะมีส่วนหลอกให้ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน เรื่องนี้จะรอฟังแนวทางของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ที่จะแก้ปัญหานี้ให้เร็วที่สุด โดยทางชาวบ้านได้เสนอให้การประชุมแก้ปัญหาให้แต่งตั้งตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมด้วยเพื่อเป็นเรื่องของการบูรณาการและความชอบธรรม และเป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่หลอกชาวบ้านอีก