ชัยนาท - เกษตรจังหวัดชัยนาท เตรียมจัดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ให้ความรู้การปลูกพืชไร่คุณภาพดีแก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หลังพบว่า ผลผลิตเกษตรกรในพื้นที่เฉลี่ยต่อไร่ต่ำ
วันนี้ (14 ก.พ.) นายเกษม ไตรพิจารณ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือของงานวิจัย พัฒนา และงานบริการวิชาการเกษตรให้มีความสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบการบูรณาการ ภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้อง และทันสมัย เพื่อการพัฒนาให้บริการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นกลไกของชุมชนในการรณรงค์ฟื้นฟูเกษตรกร และแก้ปัญหาร่วมกันในรูปกิจกรรมให้บริการเคลื่อนที่ และกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้
โดยจังหวัดชัยนาท มีพื้นที่ปลูกพืชไร่ประมาณ 303,799 ไร่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดชัยนาทอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกมากในท้องที่ อ.หันคา อ.เนินขาม อ.หนองมะโมง และ อ.วัดสิงห์ ซึ่งเป็นที่ราบสูงเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 108,809 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,250 กิโลกรัม/ไร่ และพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน 275,429 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 9 ตัน/ไร่ ซึ่งพบว่า ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องของกระบวนการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ดังนั้น ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จะจัดงาน “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ และงานรณรงค์การผลิตพืชไร่คุณภาพดี” บริเวณสนามองค์การบริหารส่วนตำบลเด่นใหญ่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน คาดว่าจะมีเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในจังหวัดชัยนาท เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน
ภายในงานจะจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกรแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 60 คน ได้เข้าศึกษาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในแปลงเกษตรของตนเอง ซึ่งจะมี 5 ฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานที่ 1 เป็นเรื่องหลักการเตรียมดินที่ดีในการปลูกพืชไร่ และการจัดการระบบน้ำในพืชไร่ โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตรจังหวัดชัยนาท ฐานที่ 2 เรื่องการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท ฐานที่ 3 เรื่องการลดต้นทุนโดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในพืชไร่ โดยสถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท ฐานที่ 4 เรื่องการใช้พันธุ์อ้อยให้เหมาะสมต่อพื้นที่ โดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ฐานที่ 5 เรื่องการใช้พันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมต่อพื้นที่ โดยศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท