ระยอง - ไออาร์พีซี ทุ่มงบกว่า 30 ล้านบาท แก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นบ่อบำบัดน้ำเสียให้เป็นระบบปิด พร้อมต่อท่อดูดกลิ่นนำไปเผาในหม้อไอน้ำ จนประสบความสำเร็จ
วันนี้ (13 ก.พ) นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรม จ.ระยอง พร้อมด้วย นางคนึงนิจ ทยายุทธ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน นายณชรพงศ์ บุญทา วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายรัฐพล อุณากัณฑ์พร ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม เขตประกอบการไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่น ที่ห้องประชุมเล็ก ศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายชุมชนไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานเขตประกอบการไออาร์พีซี
ทั้งนี้ นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรม จ.ระยอง กล่าวว่า จากกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียเขตประกอบการไออาร์พีซี เป็นระบบเปิด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นมานานแล้ว ทางบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ได้ดำเนินการแก้ไข วันนี้ ทางอุตสาหกรรม จ.ระยอง ได้มาติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการบูรณาการร่วมจากหลายหน่วยงานได้เข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
เบื้องต้น ได้ใช้วัสดุปกคลุมบ่อบำบัดน้ำเสีย และขึงแสลนป้องกันกลิ่นเหม็น คือ กลิ่นเหม็นจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่เป็นระบบเปิดจะมีกลิ่นตามทิศทางลม ต่อมา ทางบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว คือ ทำเป็นระบบปิดเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้ระบบต่อท่อดูดกลิ่นในบ่อบำบัดน้ำเสียทั้งหมดเป็นระยะทางเกือบ 400 เมตร นำไปเผาในหม้อไอน้ำ ทำให้กลิ่นเหม็นจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่เป็นสารเคมีจะถูกเผาลงไปในหม้อไอน้ำ การดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายทหารพัน ร.7 ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย ผลกลิ่นเหม็นหายไปประมาณ 99 เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
นายกรณ์ภัฐวีญ์ อุตสาหกรรม จ.ระยอง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานให้เป็นระบบปิด ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่จะนำไปแนะนำให้โรงงานที่มีปัญหาเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสียให้ปฏิบัติตาม ถ้าโรงงานมีการลงทุนแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นอย่างจริงจังก็จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทำให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชน และประชาชนรอบบริเวณโรงงานได้อย่างยั่งยืน