xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ชวนชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” พร้อมซูเปอร์บลูบลัดมูน-ย้ำไร้อันตรายต่อโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เชิญชวนชมปรากฏการณ์สุดพิเศษ “จันทรุปราคาเต็มดวง” พร้อมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ หรือ “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” ครั้งแรกในรอบปี ช่วงค่ำวันนี้ (31 ม.ค.) จัดกล้องโทรทรรศน์หลากชนิดให้ประชาชนและผู้สนใจร่วมสังเกตการณ์ 4 จุดหลัก ที่เชียงใหม่, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา และสงขลา พร้อมเครือข่ายโรงเรียนกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ ย้ำเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่อธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไร้อันตรายต่อโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมจัดสังเกตการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันนี้ (31 ม.ค. 61) ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. โดยเชิญชวนผู้สนใจร่วมชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ แบบเต็มตา ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากชนิดใน 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ เชียงใหม่, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา และสงขลา รวมทั้งเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊กของสถาบันฯ ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้มีความพิเศษเนื่องจากเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลก และตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่ 2 ของเดือนที่จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดในวันที่ 31 ม.ค. 61 นี้ ค่อนข้างพิเศษกว่าครั้งอื่น เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดในช่วงดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก ช่วงกึ่งกลางคราสเต็มดวง มีระยะห่างจากโลกเพียง 360,191 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกถึงดวงจันทร์ (ประมาณ 384,400 กิโลเมตร) จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย นอกจากนี้ยังตรงกับจันทร์เพ็ญครั้งที่ 2 ของเดือนอีกด้วย หรือที่นิยมเรียกกันว่าบลูมูน (Blue Moon) ซึ่งปกติดวงจันทร์เต็มดวงจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น เดือนไหนที่มีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ว่า “บลูมูน” ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Once in a blue moon” หมายถึงนานทีจะเกิดขึ้นสักครั้ง และดวงจันทร์ไม่ได้เป็นสีน้ำเงินแต่อย่างใด ปรากฏการณ์นี้นักดาราศาสตร์สมัครเล่น นิยมเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” (Super blue blood moon) เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือนนั่นเอง

ทั้งนี้ ดร.ศรัณย์กล่าวเชิญชวนผู้สนใจร่วมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปีสุดพิเศษในครั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ซึ่งทาง สดร.ได้ตั้งจุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุดด้วยกัน ได้แก่ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่, บริเวณหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดนครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา รวมทั้งยังร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด อีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ บริการประชาชนในการส่องดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐแบบเต็มตา

ขณะเดียวกัน สดร.ได้จัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ผ่านเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติด้วย สำหรับท่านใดที่ไม่สามารถออกมาชมปรากฏการณ์จริงได้ สามารถติดตามและร่วมชมไปพร้อมกับเราได้ทาง www.facebook.com/NARITpage เวลาประมาณ 18.30-22.00 น. ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณจากจุดสังเกตการณ์หลัก บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ในประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น.เป็นต้นไป เวลาคราสเต็มดวง 19.51-21.07 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 23.08 น.ตามเวลาประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ทางทางดาราศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และไม่เกิดอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด







กำลังโหลดความคิดเห็น