ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แม่ทัพภาคที่ 3 จับมือจังหวัดเชียงใหม่และทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “ป้องกันไฟป่า ด้วยพระบารมี” รณรงค์และซักซ้อมดับไฟป่าประจำปีงบประมาณ 2561 ยืนยันเตรียมพร้อมทุกด้านรับมือ เน้นย้ำพื้นที่ป่าทั้งป่าสงวนและอุทยานฯ เป็นจุดเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง พร้อมประสานงานประเทศเพื่อนบ้านช่วยกัน ตั้งเป้าลดปัญหาลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เท่าปีที่ผ่านมา
วันนี้ (30 ม.ค. 61) ที่สนามรามัญวงศ์ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขไฟป่าและหมอกควันระดับภาค เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์และซักซ้อมดับไฟป่าประจำปีงบประมาณ 2561 “ป้องกันไฟป่า ด้วยพระบารมี” ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16, ศูนย์ควบคุมไฟป่าเชียงใหม่, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 (ลำปาง), สำนักงานพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนมาก
กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ, การสาธิตการกำจัดวัชพืชและสิ่งเหลือใช้จากการเกษตรโดยหลีกเลี่ยงการเผา, การทำแนวกันไฟ, ความพร้อมของเครื่องมือในการดับไฟป่า ตลอดจนมีการซักซ้อมสาธิตกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และการเข้าดับไฟป่าด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าดับ, การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ดับไฟป่า และการใช้อากาศยานบรรทุกน้ำเพื่อโปรยดับไฟป่า โดยเฉพาะปีนี้กองทัพบกได้สนับสนุนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบ MI17 ซึ่งมีสมรรถนะสูงกำลังเครื่องยนต์ 2,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 139 ไมล์ต่อชั่วโมง บินได้นาน 3 ชั่วโมง 10 นาที สามารถติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟ Bambi Bucket บรรจุน้ำได้ 5,000 ลิตร เข้าร่วมในภารกิจด้วย เพื่อช่วยให้การปฏิบัติภารกิจดับไฟป่ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ท.วิจักขฐ์กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ และกองทัพบกได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค เพื่ออำนวยการ ประสานงานกับส่วนราชการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการรวมพลัง และเป็นการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมุ่งเน้นในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนัก รู้ถึงโทษภัยของไฟป่าและหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเกิดจิตสำนึกในความร่วมมือในการป้องกันการเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงการคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ
นอกจากนี้ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า จากการรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนในการงดการเผาและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาในปี 2560 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพื้นที่ภาคเหนือมีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดน้อยลง และปัญหาในภาพรวมลดน้อยลงไปถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าการรณรงค์พูดจากับภาคประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น ในปี 2561 นี้จึงได้มีการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินการในปีที่แล้วมาทำการวิเคราะห์ร่วมกันกับทางผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเกิดการจัดกิจกรรมรณรงค์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการรณรงค์และลดปัญหาการลักลอบเผาป่า และปัญหาหมอกควันที่จะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ระบุว่าจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่อุทยานฯ เนื่องจากมีสภาพเป็นภูเขาสูงยากต่อการเข้าไปดับไฟป่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้ได้ผลมากที่สุดคือการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อคนในพื้นที่เกิดความเข้าใจและให้ความร่วมมือปัญหาไฟป่าหมอกควันที่เกิดขึ้นจะลดลงไปเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ก็ได้มีการสร้างความร่วมมือกับทางประเทศเพื่อนบ้านใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย พม่า และลาว โดยมีการหารือและวางมาตรการในการป้องกันปัญหาไฟป่าหมอกควันร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าการลดปัญหาไฟป่าหมอกควันให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 เท่าปีที่ผ่านมา
ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนของฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ย่างเข้าเดือน ม.ค. 61 ได้มีการกำหนดพื้นที่ผู้รับผิดชอบ และได้มีการเตรียมการในด้านของงบประมาณ และสิ่งสำคัญคือการออกไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยมีรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาคือ พื้นที่อำเภออมก๋อย ที่เป็นต้นแบบในการทำให้ประชาชนตระหนัก และเข้าใจปัญหา จากแต่เดิมที่เคยเป็นอำเภอที่มีจุดความร้อน (Hotspot) เป็นอันดับ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่จากการตรวจสอบสถิติเมื่อปีที่แล้วพบว่ามีปริมาณที่ลดลงไปเป็นอย่างมาก และในปีนี้ทางอำเภอก็ได้มีการวางแผนเป็นอย่างดี โดยการถอดแบบการดำเนินการจากปีที่แล้วมาใช้ แต่จะมีการเพิ่มวิธีการเข้าถึงพื้นที่มากขึ้น ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการในรูปแบบที่วางไว้จะช่วยให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันลดลงไปได้อย่างต่อเนื่อง