xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจชลบุรี-ระยอง ประสานเสียงปรับค่าแรงใหม่ ต่างด้าวได้ ธุรกิจไทยแย่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตือนรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต ที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว คนได้ประโยชน์คือแรงงานต่างด้าวที่มีมากถึง 60% ของมวลรวมแรงงานขั้นต่ำ แต่ผู้ได้รับผลกระทบด้านต้นทุน คือ ผู้ประกอบการไทย และกลุ่มเอสเอ็มอี สอดคล้องต่อแนวคิดประธานหอการค้า จ.ระยอง ที่เผยว่า หาก จ.ระยอง ได้รับการปรับค่าแรงจาก 330 บาท เป็น 350 บาท ปัญหาเยอะแน่
 
วันนี้ (24 ม.ค.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกแนวหน้าของไทย ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในวันที่ 1 เม.ย.นี้ว่า สิ่งที่อยากฝากเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งประกันสังคม ปศุสัตว์ และภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน คือ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงควรสอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของไทยค่อนข้างตกต่ำ โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ ส่วนการส่งออกก็เจอปัญหาเรื่องค่าเงิน ซึ่งผู้ประกอบการต้องแบกรับต่อภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
 
โดยในปีที่ผ่านมา จ.ชลบุรี ได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิมไปแล้ว 8 บาท และหากในปีนี้ต้องปรับเพิ่มอีก 22 บาท ก็จะทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการใน จ.ชลบุรี ต้องปรับขึ้นค่าแรงสูงถึง 30 บาท สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้ประกอบการจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าแรง
 
“ใน จ.ชลบุรี ที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานระดับล่างที่ใช้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นแรงงานต่างด้าว ทั้งลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งกว่า 60% ของมวลรวมแรงงานที่ใช้ในไทยล้วนเป็นต่างด้าวทั้งนั้น ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือ แรงงานต่างด้าว แต่ผู้ประกอบการในทุกภาคการผลิตต้องแบกรับภาระ ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ ก็ได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว เพราะไม่อยากให้คำพูดที่ว่า ปี 60 เผาหลอก ปี 61 เผาจริงเกิดขึ้นตามคำทำนายของนักธุรกิจหลายๆ คน” ดร.ฉวีวรรณ กล่าว
 
ประธานหอฯ ระยอง ชี้ซ้ำปรับค่าแรงเพิ่ม แรงงานต่างชาติได้ประโยชน์

เช่นเดียวกับ นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้า จ.ระยอง ที่บอกว่า จากที่มีกระแสข่าวว่า มติบอร์ดค่าจ้างปรับค่าแรงเกินจากที่คณะอนุกรรมการฯจังหวัดเสนอ โดยเฉพาะ จ.ระยอง ที่จะปรับจาก 308 เป็น 350 ต่อวันนั้นยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จ.ระยอง มีปัญหาแน่ เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรมในพื้นที่ค่อนข้างใช้แรงงานจำนวนมาก และที่ผ่านมา ก็ได้รับผลกระทบจากการประกาศปรับราคาค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มบ่นว่าอาจต้องปิดกิจการ เนื่องจากสู้ค่าแรงไม่ไหว

“ยกตัวอย่างโรงงานประกอบกิจการขนส่ง ต้องใช้พนักงานขับรถประมาณวันละกว่า 200 คน หากต้องใช้คนทำงานถึง 2 กะ ก็เท่ากับต้องใช้แรงงานถึง 400 คน ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มเดือนละ 5-6 แสนบาท ปีหนึ่งก็ 6 ล้านบาท แล้วเขาจะปรับตัวอย่างไร ตอนนี้ชาวสวนยาง กรีดยางได้แค่พอใช้จ่าย ส่วนโรงงานเฟอร์นิเจอร์ใช้แรงงานต่างด้าว 100% ดังนั้น การปรับค่าแรงขึ้นย่อมทำให้แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์มากขึ้นนั่นเอง”

นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการใน จ.ระยอง ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัด และเห็นว่ายังไม่สมควรปรับค่าแรงขั้นต่ำ และในวันที่ 30 ม.ค.นี้ หอการค้าจังหวัดระยอง จะร่วมประชุมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.) เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของโรงงานเอสเอ็มอี จากการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น