xs
xsm
sm
md
lg

“เจียเม้ง” ออกโรงแจงลดพนักงาน 100 ราย ตามโครงการสมัครใจลาออก-ไม่เกี่ยวอ่วมพิษขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง  จำกัด
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “เจียเม้ง” ผู้ผลิตส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย ออกโรงโต้ปัดปลดพนักงาน 200 รายจากเหตุอ่วมพิษขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แจงเป็นโครงการสมัครใจลาออกตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและความอยู่รอด ตั้งเป้าลด 100 ราย ใช้งบ 2 ล้านบาท จากทั้งหมด 350 ราย สอดรับกำลังผลิตที่ลดลง เผยใช้มาตรการโอนย้ายไปบริษัทในเครือแล้วแต่ยังแบกรับภาระสูง ด้านประธานสภาอุตฯ ระบุอย่าวิตกโคราชมีตำแหน่งงานว่างเพียบ

วันนี้ (23 ม.ค. ) เวลา 17.00 น. ที่สำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง จำกัด ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีข่าว บริษัท เจียเม้ง จำกัด ปลดพนักงาน 200 คน จากสาเหตุการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยพื้นที่ จ.นครราชสีมาเพิ่มเป็นวันละ 320 บาท

นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และทำให้เกิดความเสียหาย สังคมเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของบริษัทฯ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างของบริษัทฯ ให้มีศักยภาพแข่งขันกับตลาดและอยู่รอดต่อไปได้ เพราะทางบริษัทฯ รับภาระมา 3-4 ปีแล้ว หลังจากหมดโครงการรับจำนำข้าวและมาทำข้าวเอง ออเดอร์ต่างๆ ก็ลดลง ขณะที่เรายังต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงานเท่าเดิม คือเดือนละประมาณ 5 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้บริษัทฯ พยายามปรับตัวด้วยการโอนย้ายพนักงานบางส่วนไปบริษัทในเครือที่แมชชิ่งกันได้ ส่วนพนักงานที่เหลือประมาณ 350 คนเราคิดว่ามันยังมากเกินกว่างบประมาณที่เราจะต้องจ่ายและยังมีต้นทุนที่สูง คาดว่าจะลดพนักงานทุกระดับประมาณ 100 คน หากพนักงานระดับสูงออกจำนวนมากก็ปรับลดไม่มาก แต่ถ้าระดับล่างออกมากจำนวนตัวเลขก็จะมาก ซึ่งเราจัดโครงการสมัครใจลาออก และมีการให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ ประกันสังคม ซึ่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงาน

แต่ปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องการที่พนักงานจะไปสมัครงานที่อื่นต่อ จากการสอบถามทางประธานสภาอุตสาหกรรมทราบว่าตลาดแรงงานยังต้องการแรงงานอยู่อีกมาก เชื่อว่าน่าจะไม่มีปัญหากับพนักงานของเราที่ออกไป แต่หากพนักงานมีปัญหาเดือดร้อนมากเราจะเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ทอดทิ้งแต่อย่างใด เพราะเราอยู่กันแบบครอบครัว

ฉะนั้น ทั้งหมดนี้คือการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้อยู่ได้ในภาวการณ์แข่งขันสูง ถือเป็นเรื่องปกติไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่สมัครใจจะลาออกแต่อยู่ในตำแหน่งที่บริษัทฯ จำเป็นเหล่านี้ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์เราก็ไม่ให้ออกเพราะไม่ได้ปิดโรงงาน มีเป้าหมายไม่เกิน 100 คน แต่หากครบตามงบประมาณที่ตั้งไว้คือ 2 ล้านบาท แล้วอาจไม่ถึง 100 คนก็ได้

ขณะนี้มีพนักงานยื่นใบสมัครใจที่จะลาออกแล้วประมาณ 20 ราย หลังเปิดโครงการสมัครใจลาออกมา 3 วัน และทยอยยื่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายผลิต และต้องยอมรับว่าปีนี้ถือว่าเป็นการปรับลดพนักงานมากที่สุดของบริษัทเจียเม้ง
นายไพสิทธิ์  ปิติทรงสวัสดิ์   ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา
นางประพิศกล่าวต่อว่า ส่วนการลดกำลังการผลิตนั้นเป็นไปตามตลาดปีนี้ที่ผลผลิตข้าวออกมาค่อนข้างน้อย และการส่งออกมีปัญหา ก็ต้องลดการผลิตลงไปโดยอัตโนมัติ ในส่วนผู้ประกอบการต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีกเป็น 320 บาทนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดโครงการสมัครใจลาออกของพนักงานบริษัทแน่นอน เป็นคนละส่วนกัน และอยากฝากผู้ประกอบการรายอื่นที่ต้องการแรงงานดีมีคุณภาพขอให้รับพนักงานของบริษัทเจียเม้งให้เข้าทำงาน เพราะพนักงานรุ่นนี้ล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น

“โคราชยังเป็นเมืองที่ใช้แรงงานและมีความต้องการแรงงานอีกมาก การที่ลดพนักงานลงแค่นี้ถือเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร” นางประพิศกล่าว

ด้าน นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะกระทบสถานประกอบการที่ใช้แรงงานมาก เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือกิจการที่ทำอาหาร แต่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ จะไม่กระทบ เพราะแจ้งแรงงานแพงกว่าราคานี้อยู่แล้ว แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ยอมรับว่าผู้ประกอบการไม่พอใจเท่าไร และเท่าที่ทราบคือคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาจะให้ขึ้นเป็น 312 บาท แต่มีการอนุมัติออกมาเป็น 320 บาท ขณะนี้กำลังยื่นเรื่องขอให้ทบทวนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากดูตลาดแรงงานแล้ว จ.นครราชสีมามีความต้องการด้านแรงงานอยู่มากกว่า 1,000 ตำแหน่ง เช่น โรงงานจินตนา ต้องการพนักงานอีกกว่า 100 คน โรงงานเจวีซี ต้องการอีก 100 คน ขณะที่บริษัทซีเกทต้องการแรงงานอีกร่วม 1,000 คน รวมถึงโรงงานแคนนอนก็รับอีกหลายร้อยคน ซึ่งแรงงานเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับบริษัทใหม่ด้วย นายไพสิทธิ์กล่าวในตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น