xs
xsm
sm
md
lg

ยังเจิ่ง..น้ำปริศนา ผุด-ไหลริน เต็มนาข้าวริมขอบเหมืองอัคราฯ ข้ามปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาพนาข้าวริมขอบเหมืองทองอัคราฯ ณ วันที่ 20 ม.ค.61
พิจิตร/พิษณุโลก - นาข้าวชาวเขาเจ็ดลูก ริมขอบบ่อเก็กกากแร่เหมืองคำอัคราฯ ยังไม่แห้ง ล่าสุดยังน้ำผุดไหลรินข้ามปี ชาวบ้านเรียกร้องหน่วยงานรัฐ เร่งเปิดเผยข้อมูลผลตรวจ จี้บอกให้ชัดน้ำผุดมาจากไหนกันแน่



วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ 14 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราฯ และใกล้กับบ่อเก็บกักแร่แห่งใหม่ของเหมืองยังคงได้รับผลกระทบกับน้ำผุด ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ตามธรรมชาติเหมือนกับท้องนาทั่วไป

ปรากฏการณ์เริ่มแรกเดิมที คือ น้ำผุดสีดำทะมึน โผล่กลางแปลงนาข้าว จนชาวบ้านในละแวกคันดินบ่อเก็บกักแร่ ตั้งข้อสังเกตว่า สีน้ำผิดธรรมชาติ อาจเกิดจากการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่ลงใต้ดิน เนื่องจากแปลงนาประมาณไม่ต่ำกว่า 50 ไร่ ที่อยู่ห่างจากบ่อเก็บกักแร่เพียงไม่ถึง 100 เมตร เรียกกว่าอยู่ชิดแนวลวดหนาม (ขอบเขตที่ดินของเหมืองทองคำ) ได้รับกลิ่นเหม็นช่วง เดือน พ.ย. 60

จนถึงวันที่ 20 พ.ย. แม้กลิ่นเหม็นจากน้ำกลางแปลงนาดังกล่าวจะลดน้อยลงจากการเติมสารอีเอ็ม แต่น้ำใต้ดิน หรือน้ำซึมยังคงปรากฏมีน้ำไหลเอื่อยๆ ลงกลางนา สู่คลองสาธารณะ แต่สีของน้ำจากสีดำทะมึนก็เริ่มจางลง (เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ) อาจเป็นเพราะปริมาณน้ำผุดลดน้อยลง ผลจากการเปิดแนวกระสอบทรายที่อุดท่อซีเมนต์กั้นออกไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้เกี่ยวข้าวไปนานแล้ว แต่หลายคนสงสัยว่าทำไมยังมีน้ำซึมไปทั่วแปลงนา แม้กลิ่นจางหายไปบ้างแล้ว แต่ยังคงมีน้ำผุดอยู่ ลักษณะเหมือนน้ำซับจากใต้ดิน และไหลเอื่อยสู่ลำรางสาธารณะ ทั้งๆที่ช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ น้ำควรแห้งจากผืนนา ไม่ควรมีน้ำบนแปลงนา หรือหากมีน้ำก็ต้องเป็นน้ำนิ่ง ไม่ใช่น้ำไหลเอื่อยเช่นนี้

“วันนี้ไม่ได้ปลูกข้าวแล้ว คงเหลือแต่ซากตอซังข้าว ทำให้เหมืองอ้างว่าเหตุน้ำเน่าคือซังตอข้าว” น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร แย้งว่า ทำไม 40-50 หรือร้อยปีก่อน แปลงนาทั่วประเทศไทยถึงไม่มีน้ำเน่าเพราะตอซังข้าว ส่วนข้อโต้แย้งว่าบริเวณข้างเหมืองนั้นมีรถดูดส้วมนำของเสียไปทิ้ง จนท.ก็พิสูจน์มาแล้วว่าไม่พบแบคทีเรียปริมาณสูงเท่ากับรถดูดส้วม

น.ส.สื่อกัญญาเปิดเผยอีกว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งเปิดเผยข้อมูล ผลการตรวจสอบของนักวิชาการที่ลงพื้นที่ไปเก็บน้ำตัวอย่าง (เมื่อธันวาคม 60) มิฉะนั้น บริษัทเหมืองก็โต้แย้งอยู่เรื่อยๆ ส่งผลเสียเชิงลบต่อนักวิชาการอีก ดังนั้นภาครัฐคือ จังหวัดพิจิตร ควรเปิดข้อมูลให้กระจ่าง เพื่อให้ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียรับทราบว่า น้ำผุดมาจากไหนกันแน่






กำลังโหลดความคิดเห็น