xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ยกคณะนั่งรถเข้าแม่ฮ่องสอน เตรียมข้อมูลรับ “บิ๊กตู่” ลุยพื้นที่ 17 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่ฮ่องสอน - รัฐมนตรีว่าการคมนาคม พร้อมคณะนั่งรถจากเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนเตรียมข้อมูลรับ “นายกฯ ตู่” ลุยพื้นที่ 17 มกราคมนี้ เล็งเจรจาสายการบินเปิดเส้นทางบินเพิ่ม พร้อมพัฒนาทางเลี่ยงเมืองจอมทองเชื่อม ทล.108 ชี้ชัดแผนเจาะอุโมงค์ติดอุทยานฯ-พื้นที่ลุ่มน้ำเพียบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงข่ายคมนาคม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะลงพื้นที่พบประชาชน และติดตามงานนโยบายของรัฐบาลที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 17 ม.ค.ที่จะถึงนี้

นายอาคมได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครั้งนี้เริ่มต้นเดินทางจากเชียงใหม่ทางรถยนต์เพื่อดูเส้นทางระหว่างแม่มาลัย-ปาย ซึ่งพบว่า 80% ใช้ได้เพราะปรับปรุงมาก่อนแล้ว ส่วนเส้นทางระหว่างปาย-ปางมะผ้า-แม่ฮ่องสอน ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก

ส่วนเส้นทางบินเชียงใหม่-ปาย, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน อยากจะให้มีการเพิ่มเที่ยวบินอีก ซึ่งต้องหารือกับกรมการบินพลเรือนก่อน และจะขอพูดคุยกับสายการบินนกแอร์ให้กลับมาเปิดบริการเส้นทางบินเพิ่ม อาจจะเป็นจากกรุงเทพฯ-แม่สอด-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน หลังจากที่ต้องยกเลิกไปก่อนหน้านี้

ขณะที่สนามบินแม่ฮ่องสอนนั้น ในส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารยังถือว่าเพียงพอที่จะให้บริการ แต่จะปรับปรุงรอบนอกให้มากขึ้น โดยจะปรับปรุงอาคารหลังเก่าให้เป็นร้านอาหาร เนื่องจากสนามบินแห่งนี้ยังไม่มีร้านอาหาร ส่วนหอนาฬิกาที่ไม่เดินมาหลายปี ก็จะปรับปรุงเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิพร้อมเวลาด้วย

สำหรับพื้นที่เชียงใหม่ จะต้องมีการพัฒนาทำถนนเลี่ยงเมืองในบางจุดของ อ.จอมทอง เพื่อเพิ่มเส้นทางเชื่อมต่อเข้าแม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน หรือ ทล.108 ให้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากมีความแออัด และเส้นทางนี้มีระยะสั้นกว่าสาย 1095 รวมถึงมีความลาดชันน้อยกว่า

นายอาคมยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเส้นทางจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน อีกว่า จากสะเมิง-วัดจันทร์มีถนนอยู่แล้ว แต่จากบ้านวัดจันทร์-แม่ฮ่องสอน ยังไม่มีถนน แต่การตัดถนนต้องผ่านภูเขา และเป็นทางโค้งเหมือนเดิม ก็ไม่ได้แก้ปัญหา รวมทั้งยังต้องดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย

ส่วนการเจาะอุโมงค์ ที่เคยตรวจตั้งแต่ปี 2546-2551 ก็ยังมีอยู่ ซึ่งพบว่าการเจาะอุโมงค์ จะต้องผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และลุ่มน้ำชั้นหนึ่งหลายแห่ง ซึ่งเงื่อนไขของการทำอุโมงค์นั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่อุทยานฯ และพื้นที่ลุ่มน้ำ ถ้ายังติดเงื่อนไขนี้ก็ทำไม่ได้





กำลังโหลดความคิดเห็น