xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา เดินหน้าพัฒนาบางแสนสู่การเป็นย่านนวัตกรรมใหม่ รับ EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา ร่วม สนง.นวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดงาน “ย่านนวัตกรรมบางแสน Bangsaen Innovation District” เผยแพร่ผลการศึกษาการพัฒนาย่านบางแสนสู่ย่านนวัตกรรม รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเมือง หลังการเกิดขึ้นของ EEC

วันนี้ (9 ม.ค.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดงาน “ย่านนวัตกรรมบางแสน Bangsaen Innovation District” เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาการพัฒนาย่านบางแสนสู่ย่านนวัตกรรม ซึ่งคือ ย่านที่เหมาะสมต่อการรวมตัวของนวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรม โดยมี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข เป็นประธานเปิดงาน ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยบูรพา การออกบูทของบริษัทเดบโดรนแมพเปอร์ และ บริษัท เบสแล็บ จำกัด
 
รวมทั้งการเสวนาเกี่ยวกับย่านนวัตกรรมบางแสนในหัวข้อ The Future of Bangsaen Innovation District จาก นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข นางวัสสาน์ สารพานิช ที่ปรึกษาประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี ผศ.ดร. ณยศ คุรุกิจโกศล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายภานุวัฒน์ พรหมศิริ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เบสแล๊บ จำกัด

ดร.ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง หัวหน้าโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมบางแสน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวก็เพื่อเป็นการนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาย่านบางแสนให้เป็นย่านนวัตกรรม ซึ่งในต่างประเทศมีย่านนวัตกรรมเกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีนักคิดค้นเข้ามารวมตัวกันสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองเมือง และเศรษฐกิจของเมือง โดยเฉพาะพื้นที่บางแสน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มในการขับเคลื่อนการรับรู้ด้านย่านนวัตกรรม และสร้างเครือข่ายนวัตกรรม ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยฯ จะถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับการอาศัยและทำงานของนวัตกรในพื้นที่บางแสน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมจากรายได้ทางการท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์
 
“ซึ่งในเฟสแรกในทั่วประเทศมีทั้งหมด 10 ย่าน และบางแสนก็เป็น 1 ในนั้น ซึ่งบางแสน เหมาะต่อการเป็นเขตนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อธุรกิจบริการในหลายระดับ เช่น โรงแรม ร้านขายของฝากประเภทประมงพื้นบ้าน และนวัตกรรมที่เหมาะสม คือ นวัตกรรมที่จะเกิดจากการบูรณาการในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ และแก้ปัญหาพื้นฐานของเมือง หลังการเข้ามาของ EEC ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นับตั้งแต่เกิดแหลมฉบัง ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อมี EEC เข้ามาอีกก็เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จะเติบโตมากขึ้น ซึ่งการมีนวัตกรรม นอกจากจะปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังจะช่วยกันคิดโจทย์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเมืองได้อีกด้วย”

ดร.ภาณุวัฒน์ ยังเผยถึงหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ว่า ขณะนี้ได้ปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดรับต่อการเกิดขึ้นของ EEC นอกเหนือจากหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ เช่น โยธา เครื่องกล เคมี ไฟฟ้ และอุตสาหการ โดยเป็นการปรับปรุงเนื้อหาวิชา และวิชาเลือกให้นิสิตสามารถเรียนรู้ได้เหมาะต่อการเข้าไปทำงานในโรงงานเพิ่มมากกว่าการเป็นแค่หลักสูตรพื้นฐานธรรมดา

“ตอนนี้มีหลายบริษัทเข้ามาคุยกับเราเรื่องการพัฒนาสหกิจศึกษา เพื่อปรับปรุงคุณภาพนิสิตในรายวิชา ตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ แต่เนื่องจากเราผลิตบุคลากรให้หลายบริษัท ดังนั้น การจะปรับตัวด้านหลักสูตรอาจจะช้าบ้าง แต่เราก็มีการจัดทำหลักสูตรอบรมเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดรับทั้งนิสิต นักศึกษาของเราเอง และผู้ที่สนใจที่ทำงานแล้วเข้ารับการอบรมเพิ่มเติม เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับสมองกลฝังตัว และไอโอที ในโรงงาน เพื่อเสริมให้นิสิตเมื่อจบแล้วสามารถเข้าทำงานในโรงงานต่างๆ ได้ทันที และคนทำงานเองก็ยังสามารถเพิ่มศักยภาพของตัวเองได้อีกด้วย” ดร.ภาณุวัฒน์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น