ศรีสะเกษ - คืบหน้าชาวบ้านศรีสะเกษกว่า 20,000 คน เรียกร้องออกโฉนดที่ดินในที่สาธารณประโยชน์โนนป่ายาง ที่ทำกินและอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน กว่า 4,000 ไร่ ล่าสุด “ยายทองคำ” แกนนำลั่นสู้ยกสุดท้าย เร่งรวบรวมเอกสารเตรียมยื่นเรื่องผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ให้ยกเลิกที่สาธารณประโยชน์ เพื่อออกโฉนดให้ชาวบ้านที่ทำกินอยู่อาศัยมานานนับ 100 ปี หลังเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องแต่เงียบหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านกว่า 20,000 คน จาก 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล ในเขตพื้นที่ อ.เมืองศรีสะเกษ ได้รวมตัวกันเรียกร้องขอออกโฉนดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอยู่ในเขตพื้นที่สาธารณประโยชน์โนนป่ายาง พื้นที่ 4,125 ไร่ มานานหลายชั่วอายุคนนับ 100 ปีแล้ว แต่ทางราชการได้ออกกฎหมายการเอาที่ดินบริเวณดังกล่าวไปเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำเลเลี้ยงสัตว์ โดยที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่ฟังเสียงคัดค้าน ทั้งที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยจำนวนมาก อีกทั้งได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องเงียบหาย ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุดที่บ้านเลขที่ 43 หมู่ 11 ชุมชนโนนสำราญ ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ บ้านของนางทองคำ ไชยชาญ อายุ 74 ปี แกนนำชาวบ้านที่เรียกร้องขอออกโฉนดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยดังกล่าว โดยนางทองคำกำลังรวบรวมเอกสารหลักฐานที่มีอยู่จำนวนหลายแฟ้ม เพื่อทำการเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มแรก นับตั้งแต่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และชาวบ้านกว่า 20,000 คน ที่ได้มาอาศัยอยู่บริเวณโนนป่ายางตั้งแต่ปี 2462 พร้อมทั้งเร่งจัดทำรายงานการประชุมที่เป็นมติของชาวบ้านทั้งหมด ขอเรียกร้องให้ออกโฉนดในที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยมานานนับ 100 ปีแล้ว
นางทองคำกล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านทั้งหมดที่อยู่ในเขตโนนป่ายาง เพื่อจะได้ส่งตัวแทนของชาวบ้านทั้งหมดไปเสนอเรื่องให้นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ขอให้พิจารณายกเลิกมติ 2/2539 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2539 ที่ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ทั้งนี้ เนื่องจากมติดังกล่าวเป็นการลงมติที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากชาวบ้านอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่นี้จำนวนมาก แต่กลับมาลงมติให้บริเวณที่ชาวบ้านอยู่อาศัยเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์
นางทองคำ ยายนักสู้ กล่าวต่อว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย เนื่องจากต่อสู้เรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนในเหลียวแลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำหนังสือไปยังส่วนราชการต่างๆ เรื่องก็เงียบหาย ทั้งที่มีเอกสารหลักฐานในการพิจารณาครบถ้วน แต่ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใดส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรชาวบ้านอยู่กันมา 100 กว่าปีแล้ว แต่มาขีดเส้นบนแผนที่เอาที่ดินบ้านเรือนของชาวบ้านไปเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์
“ขอฝากความหวังในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขวัญใจชาวไทยผู้ยากไร้ เพื่อขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยด่วน เพราะหากให้ชาวบ้านกว่า 20,000 คน ออกจากพื้นที่บริเวณนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ใด เพราะขณะนี้แม้แต่ป่าก็ไม่มีเหลือให้อยู่แล้ว” นางทองคำกล่าว