xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนางพยาบาลพลิกนาปลูกข้าวอินทรีย์ ตั้งวิสาหกิจชุมชนปั้นแบรนด์ “ข้าวสุข”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - อดีตนางพยาบาลเมืองกรุงสลัดชีวิตนางฟ้าชุดขาวกลับบ้านเกิดเป็นชาวนาเต็มตัว รวมกลุ่มเกษตรกรตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ 100% มีสมาชิก เครือข่ายภายในจังหวัดถึง 28 เครือข่าย 498 ครอบครัว ทั้งเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรอินทรีย์ภาคอีสาน 8 จังหวัด เผยช่วยลดการอพยพแรงงานเข้าเมืองใหญ่ ทั้งส่งข้าวอินทรีย์แบรนด์ “ข้าวสุข” ป้อน อ.ต.ก.ช่วยทำตลาด

“ข้าว” เป็นพืชอาหารของชาติไทยที่มีตำนานยาวนาน ราว 5,000-7,000 ปีมาแล้ว บรรพชนคนอีสาน นักโบราณคดีขุดพบเปลือกข้าวที่ “ถ้ำปุงฮุง” จ.แม่ฮ่องสอน และที่ “โนนนกทา” ต.บ้านโคก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น สันนิษฐานได้ว่าเป็นเมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทย โดยแกลบข้าวที่พบนี้มีลักษณะของ “ข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่” ที่เจริญงอกงามบนที่สูง และ “ข้าวเหนียวเมล็ดป้อม” ที่งอกงามบนที่ลุ่ม

นางนงค์ลักษณ์ อัศวสกุลชัย อายุ 50 ปี ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าว เลขที่ 138 หมู่ 10 บ้านสุขเจริญ ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม เล่าถึงความเป็นมาว่า อดีตเป็นนางพยาบาลอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในแต่ละวันต้องเจอผู้ป่วย ส่วนใหญ่ล้มป่วยจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี จึงคิดจะหาวิธีแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยที่ต้นเหตุ

โดยพื้นเพเดิมของตนเป็นลูกชาวนามาแต่กำเนิด มีพื้นที่เกษตรกว่า 70 ไร่ อยู่บ้านเกิดนครพนม ได้ตัดสินใจสลัดชุดพยาบาลมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ด้วยแนวคิดปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ 100%

ปี 2554 “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้ง” ได้ก่อตั้งขึ้น เป็นการรวมตัวของสมาชิกกลุ่มส่งเสริมอาชีพ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และผู้สนใจการปลูกข้าวปลอดภัยจากสารพิษ และการผลิตข้าวอินทรีย์ ที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนการทำนาแบบดั้งเดิม ซึ่งการทำนาแบบเก่านั้นชาวนามุ่งเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเดียว ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ผลผลิตล้นตลาด พลอยทำให้ราคาผลผลิตก็ตกต่ำไปด้วย

สมาชิกกลุ่มจึงได้หารือกัน ปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ โดยการสนับสนุนให้สมาชิกเครือข่ายหันมาทำนาข้าวให้ปลอดภัยจากสารพิษ และต่อมาพัฒนาเป็นการทำนาข้าวอินทรีย์ในที่สุด จนได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ GAP จากกรมวิชาการเกษตร

จากนั้นกลุ่มได้รับการพัฒนาโดยรับการอบรม และศึกษาดูงานการผลิตและการแปรรูปข้าว เช่น การทำข้าวสารบรรจุถุง การทำข้าวกล้อง การทำข้าวฮางงอก

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลบ้านผึ้งได้ผลิตข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวฮางงอกบรรจุถุง และผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น จมูกข้าว น้ำมันรำข้าว ขนมอบกรอบไรซ์เบอร์รี จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ข้าวสุข” (khaowsook) เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศ

นางนงค์ลักษณ์เล่าอีกว่า กลุ่มฯ มีสมาชิก 498 ครอบครัว ที่ทำเกษตรอินทรีย์ถึง 80% มีเครือข่ายภายในจังหวัดถึง 28 เครือข่าย และเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรอินทรีย์ภาคอีสาน 8 จังหวัด สามารถลดการออกไปทำงานต่างถิ่นของชาวบ้าน ที่สำคัญกลุ่มสมาชิกตรวจเลือดหาสารเคมีในเลือด ผลออกมาเป็น “0” เพราะเอาใจใส่ทุกขั้นตอนการผลิต เช่นสมาชิกห้ามนำถุงปุ๋ย หรือถุงหัวอาหารสัตว์ บรรจุข้าวเปลือกมาส่งโรงสี หากตรวจพบจะคัดออกทันที

“สิ่งที่สมาชิกภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายข้าวแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงสามครั้งสามครา คราวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดนครพนม”

ต่อมา นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อการเกษตร พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ข้าวสุข” ที่กลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครพนมส่งจำหน่ายยังตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการเกษตรของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก

นายกมลวิศว์เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่นอกจากจะได้เห็นถึงขั้นตอนการผลิตที่มีความปลอดภัย ภายใต้การนำเอาองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้กับพื้นที่เพื่อให้เกิดการผลิตข้าวอินทรีย์แบบมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ที่สำคัญคือช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังพบว่ากลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครพนมได้มีการรวมกลุ่มกันปลูกพืชอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด เห็ดชนิดต่างๆ รวมไปถึงการเลี้ยงหมู การเลี้ยงปลาดุก คาดว่าในอนาคตก็คงจะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของ อ.ต.ก.เพิ่มอีกอย่างแน่นอน นับเป็นการพัฒนาต่อยอดการเกษตรแบบอินทรีย์อย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายกมลวิศว์เปิดเผยถึงตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การดูแลของ อ.ต.ก. เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบถาวรแห่งแรกในประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 450 ตารางเมตร โดยจะมีเกษตรกรนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลายมาจำหน่าย ถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์แก่ผู้บริโภค เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กันให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและพร้อมแข่งขันกับตลาดโลก



กำลังโหลดความคิดเห็น