อุบลราชธานี - วิทยาลัยอาชีวะอุบลราชธานีเตรียมพร้อมรักษาแชมป์โลกแกะสลักน้ำแข็งสมัยที่ 9 ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ต้อนรับพุทธศักราช 2561 (The 10th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018) หากทำได้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีจะเป็นวิทยาลัยเดียวของประเทศไทยที่ได้เข้าแข่งถึง 2 ครั้ง และเป็นแชมป์ติดต่อกันอีก 1 สมัยด้วย
ที่ห้องประชุมศรีพรหมราช วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นายธวัชชัย พันธ์นิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นางสุวนิจ สุริยพันตรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม นายสุระชาติ พละศักดิ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิจิตรศิลป์ครูผู้ควบคุม พร้อม นายกฤษณะ คบสหาย นายธนศักดิ์ พิพัฒน์ นายธนากร ศักดิ์สิงห์ และนายอภิสิทธิ์ ศรชัย ทีมนักเรียน ปวช.3 สาขาวิจิตรศิลป์ แชมป์โลกแกะสลักหิมะนานาชาติในปีที่ 2560 แถลงข่าวและเปิดโมเดลแนวคิดการออกแบบนำไปใช้แกะสลักรักษาแชมป์เป็นสมัยที่ 2 ของวิทยาลัย และเป็นสมัยที่ 9 ของประเทศไทย
ในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ (The 10th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2018) ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีกำหนดเดินทางเข้าแข่งขันในระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2561
นายธวัชชัยกล่าวว่า ปีนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันเป็นปีที่ 2 โดยใช้สิทธิ์แชมป์โลก จากการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติเมื่อปี 2560 ซึ่งสามารถคว้ารางวัลแชมป์จากผลงานที่ชื่อ “Water-Fish-Paddy Field- Rice” น้ำ-ปลา-นา-ข้าว หรือตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย พร้อมเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่คนทั่วโลกต่างยกย่องสรรเสริญเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ดี กินดี ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับการเดินทางเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้มีความพร้อมมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานและการดูแลตนเองในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจในอุณหภูมิที่ติดลบถึง 35 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการรักษาแชมป์ เพราะปีที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับผู้เข้าแข่งขันถึง 57 ทีมจากทั่วโลก
จึงมีการศึกษาและวางแผน โดยนำเอาแนวความคิดเรื่องป่าหิมพานต์ คติพุทธศาสนาและฮินดู ที่ถือว่าเป็นดินแดนทิพย์ที่มีอยู่จริงจัดอยู่ในเขตสวรรค์ ชั้น 1 คือ ชั้นจาตุมหาราชิกาที่ใกล้ชิดกับมนุษย์โลก ซึ่งมีผลต่อคติความเชื่อของคนไทย รวมทั้งคนอีกหลายประเทศในโลกว่า สัตว์ป่าหิมพานต์ที่เป็นตัวแทนของบุญวาสนาและความสำเร็จ
จึงวางคอนเซ็ปต์ในชื่อผลงาน “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” (Belief… Faith… Miracle) ด้วยการนำ ม้า-นก-ปลา และน้ำ จากป่าหิมพานต์มาแกะสลักลงบนก้อนหิมะตามจินตนาการ เพื่อสื่อถึงเรื่องราวที่เป็นพลังความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ กล่าวคือ “ม้า” หมายถึง สัตว์นำโชค เป็นสัญลักษณ์ถึงความเจริญก้าวหน้า มุมานะ อดทน และการขยันขันแข็งในการทำงานเพื่อเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต
“นก” หมายถึง ความอิสระของพลังแห่งความคิด การกระทำ มักมีความฉลาดหลักแหลมด้านสติปัญญา และทะยานบินไกลสู่ความสำเร็จ “ปลา” หมายถึง สัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง การมีเงินทองล้นหลาม ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มีผลกำไร “น้ำ” หมายถึง ชีวิตแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุด เป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำ และเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
ที่ผ่านมาทีมแข่งขันได้มีการทดสอบการแกะสลักผ่านดินเหนียวที่มาขึ้นรูปเพื่อทำการซ้อมมาเป็นเวลากว่า 1 อาทิตย์ และเชื่อว่าประเทศไทยจะยังคงสามารถรักษาแชมป์โลกแกะสลักน้ำแข็งเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันให้ได้