xs
xsm
sm
md
lg

หลังเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านพลิกฟื้นภูมิปัญญา “หว่านแหวง”หาปลาในน้ำมูล เหลือจากกินก็ขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์-หลังเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านที่อาศัยติดริมมูล อ.สตึก จ.บุรีรัมย์กว่า 10 ครอบครัว ได้พลิกฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม พายเรือล้อมวงหว่านแหหาปลาในลำน้ำมูล เพื่อนำไปทำกินในครอบครัวหากหาได้มากก็แบ่งขาย แต่ละวันสามารถจับปลาได้ 5 – 10 กิโลกรัม นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาวประมง ยังสร้างความสามัคคีด้วย

ชาวบ้านและเกษตรกรบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก กว่า 10 ครอบครัว ที่ว่างเว้นจากการทำนาหรือเสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว ได้ชวนกันออกมาหว่านแหหาปลาในลำน้ำมูล ด้วยวิธีแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม

โดยการพายเรือล้อมเป็นวงแล้วหว่านแหพร้อมกัน หรือชาวบ้านเรียกกันว่าหว่านแหวง (อ่านว่า แห-วง) เพื่อไล่ต้อนปลาให้มาติดแห ซึ่งจะมีโอกาสจับปลาได้มากกว่า การหว่านคนเดียวหรือต่างคนต่างหว่าน


ชาวบ้านจะล่องเรือหว่านแหวงจับปลาไปตามลำน้ำมูลตั้งแต่บริเวณบ้านท่าเรือถึงบ้านท่าม่วงระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร โดยแต่ละวันจะสามารถจับปลาได้ 5 – 10 กิโลกรัม มีทั้งปลาหน้าหนู ปลาตะเพียน ปลานาง และปลาอื่นๆ อีกหลายชนิด โดยปลาที่ชาวบ้านหว่านแหได้ก็จะนำไปประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือน

วันไหนได้เยอะก็จะนำไปขายที่ตลาดทำให้มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 300 – 500 บาท ซึ่งถึงแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากนักแต่ก็เป็นความสุขของชาวบ้านที่ได้อนุรักษ์วิถีชีวิตของชาวประมง ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

นายสมบูรณ์ ไทยนิยม อายุ 62 ปี ชาวบ้านบ้านท่าเรือ บอกว่า ปกติมีอาชีพทำนาทุกปีหลังเสร็จจากเก็บเกี่ยวข้าว ก็จะชวนกันมาหว่านแหจับปลาในลำน้ำมูล โดยจะใช้วิธีแบบดั้งเดิมคือการหว่านแหวงเพื่อไล่ต้อนปลาให้มาติดแห ก็จะมีโอกาสจับปลาได้มากกว่าการหว่านคนเดียว เนื่องจากน้ำมูลค่อนข้างกว้าง

แต่ละวันก็จะหว่านแหได้ปลาคนละประมาณ 5 – 10 กิโลกรัม ซึ่งบางส่วนก็เก็บไว้บริโภคที่เหลือนำไปขายตลาดเพื่อเป็นรายได้หลังทำนา ก็ถือเป็นวิถีชีวิตที่ทำกันมานานแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น