กาฬสินธุ์ - กอ.รมน.กาฬสินธุ์ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีชาวบ้านอำเภอนาคู จังหวังกาฬสินธุ์ ร้องเรียนการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกตัวเล็กแต่ราคาแพง ในโครงการ 9101 พบหัวอาหารไม่เขียนวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ขณะที่ชาวบ้านเตรียมร้อง “บิ๊กตู่” วันพรุ่งนี้
วันนี้ (12 ธ.ค. 60) พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจปัญหาร้องเรียนถึงขนาดพันธุ์ลูกปลาดุก ในโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งชาวบ้านระบุว่ามีขนาดเล็กแค่ 3-4 เซนติเมตร ไม่เหมาะสมกับราคาที่จัดซื้อในราคาตัวละ 2 บาท และหัวอาหารที่ผลิตมานานกว่า 3 ปี รวมทั้งบังคับให้กลุ่มเลี้ยงปลาดุกชุมชนนาคู 1 แก้ไขเอกสารการซื้อปัจจัยการผลิตให้เหมือนกับที่อื่น ที่จัดซื้อพันธุ์ปลาตัวละ 2 บาท และหัวอาหารกระสอบละ 580-600 บาท
การตรวจสอบครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ทั้งการซื้อพันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และกระชัง ของสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปลาดุกชุมชนนาคู 1 ซึ่งกลุ่มนี้ปฏิเสธรับพันธุ์ปลา หัวอาหาร จากเจ้าหน้าที่ที่นำมาให้ เนื่องจากชาวบ้านระบุว่าปลามีขนาดเล็กมาก และหัวอาหารผลิตมานาน ไม่เหมาะสมกับราคาและมีราคาสูงกว่าท้องตลาด กลุ่มเลี้ยงปลาดุกชุมชนนาคู 1 มีสมาชิก 50 ราย ซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเฉลี่ย 5 ซม.ในราคาตัวละ 1 บาท ได้คนละ 1,350 ตัว หัวอาหารมียี่ห้อและมีจำหน่ายตามท้องตลาดกระสอบละ 425-450 บาท ได้คนละ 6 กระสอบ และกระชังขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1.5 เมตร ราคา 1,100 บาท ซึ่งหากรวมแล้วจะได้ราคาประมาณ 5,000 บาทพอดี
เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบหัวอาหารที่นำมาแจกให้กับกลุ่มเลี้ยงปลาพื้นที่ ต.นาคู และพื้นที่ต่างๆ เป็นหัวอาหารยี่ห้อหนึ่ง แต่กลับไม่ระบุวันผลิตและวันหมดอายุ มีเพียงเลขทะเบียนอาหารสัตว์ คาดว่าน่าจะผลิตมาตั้งแต่ปี 2557 นานกว่า 3 ปีแล้ว น่าจะเสื่อมคุณภาพและอาจจะหมดอายุ ส่วนพันธุ์ปลาดุกจะต้องนำเจ้าหน้าที่ประมงเข้ามาวัดขนาด เนื่องจากมีการแจกจ่ายให้ชาวบ้านมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ซึ่งจะต้องโตขึ้น อีกทั้งส่วนใหญ่ชาวบ้านนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยง ตามทุ่งนา
พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเข้าตรวจครั้งนี้เข้าตรวจสอบและเก็บข้อมูลในเบื้องต้น จากนั้นจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด เข้าตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ รวมทั้งประสาน สตง., ป.ป.ท. และให้อำเภอนาคูเข้าตรวจสอบพร้อมกันว่ามีการจัดซื้อแพงหรือทุจริตหรือไม่
ด้านนายอภิสิทธิ์ แสนคนุง อายุ 41 ปี ชาวบ้านนาคู ม.9 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมและเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปลาดุกชุมชนนาคู 1 กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมและนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมา จ.กาฬสินธุ์วันที่ 13 ธันวาคมนี้ ยืนยันว่าปลาที่นำมาแจกจ่ายชาวบ้านนั้นตัวเล็ก ไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งหัวอาหารยังผลิตมานานกว่า 3 ปี รวมทั้งเรื่องที่เจ้าหน้าที่บังคับให้แก้ไขเอกสาร เรื่องนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ประชาชนที่เดือดร้อน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามราคาหัวอาหารภายในร้านจำหน่ายสินค้าการเกษตรใน อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยนายเมธี อำไพพิศ เจ้าของร้าน ระบุว่า หัวอาหารปลาดุกมี 3 ชนิด หัวอาหารโปรตีนไม่น้อยกว่า 32% สำหรับปลาดุกแรกเกิดกระสอบละประมาณ 450 บาท โปรตีนไม่น้อยกว่า 30% สำหรับปลาดุกขนาดกลางกระสอบละ 440 บาท และโปรตีนไม่น้อยกว่า 25% สำหรับปลาดุกใหญ่กระสอบละประมาณ 420 บาท ซึ่งราคาของหัวอาหาร 3 ชนิดนี้เป็นหัวอาหารเม็ดเล็ก มียี่ห้อและคุณภาพ มีวางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด หากเป็นหัวอาหารเม็ดใหญ่จะราคาถูกกว่านี้อีก ที่สำคัญหัวอาหารทุกกระสอบจะต้องมีเลขทะเบียน บอกวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุไว้ด้วย