นครพนม - โลกเปลี่ยน พฤติกรรมชาวนาไทยเปลี่ยนตาม ชาวนาในนครพนมเลิกเผาตอซัง หันอัดฟางแท่งขายรายได้ดี อัดเองขายเองได้ถึงก้อนละ 13 บาท หากขายเหมาเป็นตอฟางรับเงิน 3 บาท/ก้อน เผยยิ่งสต๊อกไว้ขายช่วงหน้าแล้งหรือฝนราคาพุ่งถึงก้อนละ 25-30 บาท
นายสุเมธ โมดา ชาวนาบ้านกกไฮ อ.เมือง จ.นครพนม เล่าว่า สมัยก่อนหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วชาวนาส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีเผาตอซังก่อนที่จะไถดินกลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งและช่วงหน้าฝนในรอบปีถัดไป สิ่งที่ส่งปัญหาตามมาของเกษตรกรคือไม่มีฟางเลี้ยงวัวและควาย
ดังนั้นทุกวันนี้จึงปรับเปลี่ยนแนวคิด จากที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเผาตอซัง ก็หันมาอัดฟางแท่งเก็บไว้ ซึ่งถ้าใครมีที่นาเยอะก็จะได้เปรียบเพราะสามารถสำรองฟางอัดแท่งได้มากตามไปด้วย หรือบางคนที่ไม่เลี้ยงวัว ควาย ก็สามารถขายฟางที่อยู่ในนาให้ผู้รับเหมาได้เลย โดยที่กระบวนการจัดการทุกอย่างผู้รับเหมาเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เจ้าของที่นารอรับเงินอย่างเดียว ได้เงินในราคาก้อนละ 3 บาท
ส่วนผู้ที่อัดเองก็จะมีต้นทุนการผลิต ราคาขายอยู่ที่ก้อนละ 13 บาท แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะมีฟางสำรองให้วัว ควายที่เลี้ยงในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน หรือถ้าขายก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว คือประมาณก้อนละ 25-30 บาท แล้วแต่ปริมาณก้อนฟางอัดแท่งที่มีในท้องตลาดว่ามีมากน้อยขนาดไหน
สำหรับการผลิตนั้นจะใช้รถไถพ่วงกับเครื่องอัดฟางวิ่งอัดไปรอบๆ ที่นา อีกคนคอยเก็บก้อนฟางที่อัดเสร็จมาเรียงเก็บไว้ ซึ่งใน 1 ไร่จะได้ประมาณ 30 ก้อนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของฟางที่อยู่ในนา
แต่ละวันจะสามารถอัดได้ประมาณ 600-700 ก้อน สำหรับที่นาที่มีฟางไม่แน่น แต่ถ้ามีฟางแน่นจะได้ถึงวันละ 800-1,000 ก้อนเลยทีเดียว