กาฬสินธุ์ - ชาวนาตำบลบัวบาน อ.ยางตลาด พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนจากทำนาที่เจอแต่น้ำท่วมน้ำแล้งขาดทุนทุกปี หันมาสร้างฟาร์มเพาะพันธุ์หนูนาขาย ลงทุนน้อย แต่ให้ผลคุ้มค่าเกินคาดหมาย มีลูกค้าจากทั่วภาคอีสานสั่งซื้อตลอดปี รายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นบาท
ที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และกำลังเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งอื่นๆ พบว่ามีเกษตรกรชาวบ้านเหล่า หมู่ 5 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รายหนึ่ง ซึ่งได้แบ่งพื้นที่ที่เคยทำนาเป็นฟาร์มเลี้ยงหนูนา ปลูกผักสวนครัว และมันสำปะหลัง เพื่อเป็นอาหารเสริมสำหรับขุนหนูนา
นายชาญชัย ภูทองกลม อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ 5 บ้านเหล่า ต.บัวบาน อ.ยางตลาด กล่าวว่า เดิมตนมีอาชีพทำนา ทำทั้งนาปีและนาปรังเพราะอยู่ในเขตพื้นที่ใช้น้ำชลประทานเขื่อนลำปาว ผลผลิตแบ่งขายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเหลืออุปโภคในครัวเรือน เมื่อปีที่แล้วเห็นว่าราคาจำหน่ายข้าวเปลือกตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น รายได้ไม่คุ้มทุน
จึงลดพื้นที่ทำนาลงเกือบ 2 ไร่เศษ แล้วหันมาปลูกมันสำปะหลัง ปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นอาหารเสริมให้หนูนา และสำหรับสร้างโรงเรือนเลี้ยงหนูนาในพื้นที่ 2 งาน
ทั้งนี้ เนื่องจากหนูนาเป็นอาหารยอดนิยมของชาวบ้านในแถบภาคอีสาน ซึ่งมักจะนำมาประกอบอาหารในฤดูหนาว เนื้อมีรสชาติที่นุ่ม เหนียว ติดมัน นำมาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ย่าง ผัดเผ็ด ลาบ ก้อย คั่ว แกง อ่อม หรือหมก บางคนยังเชื่อว่าถ้าได้เปิบหนูนาในฤดูหนาวยังจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นด้วย
นายชาญชัยเล่าอีกว่า เนื้อหนูนาเป็นที่นิยมของชาวอีสาน แต่นับวันหนูนาตามธรรมชาติจะหายากมากขึ้นเนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนไปหนูนาจึงขาดแคลน เมื่อปีที่ผ่านมาจึงได้ทดลองเลี้ยงหนูนาเพื่อขาย
ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือใช้กับดักหาจับเองบ้าง รับซื้อจากชาวบ้านบ้าง ตัวใหญ่ขายตัวละ 80-100 บาท หรือหากจับได้ตัวเล็กก็นำมาขุนให้โตก่อนขาย
สำหรับคอก เทพื้นด้วยคอนกรีตและก่อด้วยอิฐ มุงด้วยตาข่ายและสังกะสี วางท่อซีเมนต์และพีวีซีให้เป็นรังและที่หลบซ่อนตัว ป้องกันขุดรูหนีและหลบภัยจากศัตรู อย่าง แมว สุนัข เหยี่ยว งู เข้ามารบกวน ขุนด้วยอาหารหมู และเสริมด้วยข้าวเปลือก ข้าวโพด หญ้า หัวมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าใกล้ไกลมาสั่งซื้อไปบริโภคและจำหน่าย โดยเฉพาะในฤดูแล้งจะขายดีมาก จนไม่เพียงพอที่จะส่งขายให้ลูกค้า
เมื่อเห็นทิศทางว่าการเลี้ยงหนูนาจะไปได้ดี และมีแนวโน้มที่ตลาดต้องการมากขึ้น เมื่อต้นปีนี้จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะเพาะพันธุ์หนูนาขาย จึงขยายโรงเรือนเป็นฟาร์มเลี้ยงหนูนา ลงทุน 3 หมื่นบาทเพื่อทำคอกหนูรุ่นเพิ่มเติม และซื้อท่อซีเมนต์ประมาณ 80 ท่อ แบ่งออกเป็นคอกผสมพันธุ์ คอกอนุบาล คอกหนูรุ่น คอกตัวผู้ และคอกตัวเมีย มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อายุ 4 เดือนมาขังในคอกเดียวกันคอกละ 1 คู่ ใช้เวลาประมาณ 15 วันผสมพันธุ์เสร็จ
จากนั้นแยกพ่อพันธุ์ออกมาขังรวมในคอกที่แยกสำหรับพ่อพันธุ์ เมื่อแยกพ่อพันธุ์ออกมาจากแม่พันธุ์แล้ว ประมาณ 24-28 วันแม่พันธุ์จะตกลูกออกมาครอกละ 6-12 ตัว อีก 20 วันลูกหนูนาก็จะหย่านม ก็แยกลูกหนูรุ่นออกมาขุนในคอกซีเมนต์ขนาด 5x7 เมตร ขณะที่แม่พันธุ์ก็พร้อมที่จะจับคู่กับพ่อพันธุ์เพื่อผสมพันธุ์อีก ทำวนไปอย่างนี้เรื่อยๆ ซึ่งแม่พันธุ์ตัวหนึ่งๆ จะให้ลูกปีละประมาณ 4 รุ่น
อนึ่ง ฟาร์มนี้จะเน้นขุนหนูนาเพื่อขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เท่านั้น จะไม่ขายหนูเนื้อเหมือนปีแรกเพราะจะเป็นการขายแล้วหมดไป เสียเวลาเพาะพันธุ์ สู้ขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มประชากรหนูนาได้หลายเท่าทวีคูณในราคาคู่ละ 500 บาท อย่างไรก็ตาม หากชาวบ้านหาหนูนามาขายให้ก็จะรับซื้อเพิ่มเพื่อนำมาขุนต่อ โดยจะซื้อให้ราคาคู่ละ 100 บาท”
นายชาญชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนเพาะเลี้ยงหนูนาเพื่อขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใช้ต้นทุนต่ำแต่ขายได้ตลอดปี ได้รับความสนใจจากลูกค้าทุกจังหวัดทั่วภาคอีสาน และบางจังหวัดในแถบภาคกลาง เช่น สระบุรี ลพบุรี ราชบุรี ซึ่งมีทั้งเดินทางมาติดต่อซื้อด้วยตนเองและโทรศัพท์มาสอบถามก็มาก เพราะกลุ่มผู้นิยมเปิบหนูนาก็กลุ่มใหญ่ แต่หาจับตามธรรมชาติได้ยากมากขึ้น
หากหาซื้อตามฟาร์มจะสะดวกกว่า และให้รสชาติไม่แตกต่างกับหนูนาตามธรรมชาติ เพราะจะเพิ่มความมันของเนื้อหนูนาด้วยอาหารหมูและหัวมันสำปะหลัง นอกจากนี้ จากการบริหารจัดการในฟาร์มอย่างดี อาหารที่ใช้เลี้ยงหนูสะอาด สามารถการันตีว่าไม่มีพยาธิ ไม่มีโรคติดต่อ จึงมีนักเปิบหนูนารวมทั้งผู้ที่ต้องการทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา และกลุ่มวิสาหกิจฯ ติดต่อซื้ออย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่หันมาทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาอย่างจริงจังได้ประมาณ 1 ปี ทำให้มีรายได้จากการขายหนูนาเดือนละไม่น้อยกว่า 6 หมื่นบาท
“การทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาเพื่อขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จึงเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดีกว่าทำนาข้าว เพราะทำง่าย ลงทุนต่ำ มีรายได้ที่สูงขึ้น ทำคนเดียวได้ แทบจะไม่ต้องใช้แรงงานเลย ทุกวันนี้ก็ช่วยกันทำกับภรรยาสองคน เพียงหาเก็บผัก หัวมันสำปะหลัง และให้อาหารเท่านั้นก็จบในแต่ละวัน” นายชาญชัยกล่าว