กาฬสินธุ์ - ฝืนทำนาเสี่ยงขาดทุน หนุ่ม ป.โทวิศวะหนีชีวิตมนุษย์เงินเดือน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ สู่ความพอเพียงกลับบ้านเกิดเพาะเห็ดโคนน้อยสร้างรายได้ ผุดไอเดียสุดเก๋เพาะเห็ดง่ายๆ ที่บ้านเปิดออเดอร์ออนไลน์ โซเชียลล้นหลาม แนะชาวนาปรับเปลี่ยนวิถีสร้างรายได้พึ่งพาตนเอง
ที่ฟาร์มปรเมศวร์เห็ดโคนน้อยกาฬสินธุ์ หมู่ 3 บ้านดงน้อย ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ แหล่งเพาะเลี้ยงเห็ดโคนน้อยส่งจำหน่ายตลาดแห่งแรกของ จ.กาฬสินธุ์ นายปรเมศวร์ ศรีชัยเชิด วัย 37 ปี อดีตหนุ่มปริญญาโทวิศวะ ที่หลบหนีเมืองกรุงกลับมายังบ้านเกิดมาเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ดโคนน้อย ใช้แรงงานในครัวเรือน 5 คน
แต่มีรายได้หลักหมื่นต่อวัน โดยใช้พื้นที่เล็กๆ บริเวณหลังบ้านบนเนื้อที่เกือบ 2 ไร่ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะเห็ดโคนน้อยที่ลงทุนต่ำ รายได้สูง แก้ปัญหาทำนาขาดทุนเพราะราคารับซื้อข้าวตกต่ำ
นายปรเมศวร์ ศรีชัยเชิด กล่าวว่า ภายหลังเรียนจบใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานในสาขาอาชีพที่ตนเองเรียนจบมานานกว่าสิบปี กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนด้วยความมุ่งหวังที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ยึดหลักพอเพียง เหลือกินก็ขายเป็นรายได้ คือความคิดในระยะแรก มีทั้งที่นา ที่สวน และพื้นที่บริเวณบ้าน การเลือกทำนาส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ข้าวพอกินในครัวเรือน
ส่วนฟางก็นำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะเห็ดโคนน้อย ดูแล้วเหมาะสมและเป็นวิธีสร้างรายได้ได้ จึงริเริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง ศึกษาค้นหาจากหลายช่องทางการทำการเกษตร
จนได้รู้จักกับเห็ดโคนน้อย ก่อนจะสร้างอาณาจักรฟาร์มเห็ดโคนน้อยเป็นของตนเองจากการเพาะเห็ดไว้รับประทานเองในครัวเรือน เห็ดเริ่มมีมากขึ้นเพราะดอกเห็ดออกทุกวันจึงเริ่มนำออกจำหน่าย ด้วยรสชาติหวาน หอม และนุ่ม จึงถูกใจคนชื่นชอบเห็ดอย่างมาก
นอกจากนั้นยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ซึ่งมองว่าระยะเวลาเพียง 1-2 อาทิตย์เงินที่ลงทุนได้คืนแล้วทั้งหมด แตกต่างจากการทำนาที่ใช้เวลานานลงทุนสูง ซึ่งเวลานี้ชาวนาก็ต้องปรับตัวเหมือนกับครอบครัวของตนที่เป็นชาวนาแต่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เหมาะสม
โดยโรงเรือนถูกสร้างขึ้นมาแบบง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ตามหัวไร่ปลายนา ขนาด 1.20x5 ม. คลุมด้วยผ้าพลาสติกสีดำต้นทุนไม่ถึง 1,000 บาท ขณะที่ก้อนฟางเพาะเห็ดโคนน้อยจะต้องผ่านการต้มในน้ำเดือด 5 นาที ก่อนพักทิ้งไว้ 1 คืน และคลุกผสมกับเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ ก้อนฟางเพาะเห็ดโคนน้อยขนาด 12 นิ้ว x 45 ซม. หนา 20 ซม. เป็นสี่เหลี่ยมจะวางเรียงในโรงเรือนที่สร้างขึ้นมีผ้าพลาสติกสีดำคลุมไว้อย่างมิดชิดเป็นเวลา 3 วัน เมื่อเปิดดูจะมีใยสีขาวเกาะอยู่ให้ฉีดน้ำล้างออกจากนั้นคลุมไว้อีก 3-5 วัน
ช่วงนี้เห็ดโคนน้อยจะเริ่มงอกขึ้นมาให้เฝ้าสังเกตและเริ่มเก็บเห็ดเป็นระยะๆ ปล่อยทิ้งข้ามวันไม่ได้เพราะเห็ดจะมีสีดำรับประทานไม่ได้ โดยจะสามารถเก็บผลผลิตเห็ดโคนน้อยต่อไปได้อีก 15-20 วัน
นอกเหนือจากการขายดอกเห็ดสดๆ จากฟาร์มใน กก.ละ 140-150 บาทแบบไม่ตัดขา และ กก.ละ 200 บาทที่ตัดขาแล้ว ในความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร ฟาร์มเห็ดปรเมศวร์ยังสร้างตะกร้าเห็ดโคนน้อยพอเพียง เปิดขายบนโลกโซเชียลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
เพียง 1 อาทิตย์ในการเปิดตลาดขาย ความแปลกใหม่ ทันสมัย และย่อส่วนฟาร์มเห็ดให้ทุกคนเป็นเจ้าของได้อย่างง่ายดาย ออเดอร์ตะกร้าเห็ดโคนน้อยพอเพียงพุ่งสูงกว่า 100 ตะกร้าอย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกว่าสายฟ้าแลบแบบไม่ทันตั้งตัว
นายปรเมศวร์กล่าวว่า ตะกร้าเห็ดโคนน้อยพอเพียงที่จัดส่งทั่วประเทศก็ไม่แตกต่างจากโรงเรือนที่เราสร้างขึ้น แตกต่างเพียงสามารถเคลื่อนที่ได้ ไม่เปลืองพื้นที่ บริหารจัดการง่าย ซึ่งราคาจำหน่ายตะกร้าเห็ดฯ อยู่ที่ 200 บาท โดยจะได้เห็ดโคนน้อยไว้รับประทานเอง 15-20 วัน หรือได้เห็ดประมาณ 2 กก. ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็ราวๆ 400 บาท
โดยที่เจ้าของตะกร้าเห็ดที่ซื้อไปไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก และที่สำคัญวัสดุเหลือใช้ทั้งตะกร้าก็ยังนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก ส่วนฟางสามารถนำไปใส่ต้นไม้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ
“ตอนนี้จากการลงทุนในหลักพันกลับได้เม็ดเงินกลับคืนมาในหลักหมื่น จึงคิดว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ จากนี้ก็เริ่มจะขยายฟาร์มและเพิ่มอัตรากำลังแรงงาน เพราะตอนนี้ทำกันแบบครอบครัวทำกันเล็กๆ มีพี่สาว น้องสาว พ่อและแม่คอยช่วย แต่เกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่มีออเดอร์สั่งมาทุกๆ วัน”
ปรเมศวร์ฟาร์มยังเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจธุรกิจเช่นนี้ เพราะลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนเร็ว ขณะที่ยังเป็นตัวแทนในการจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์การเพาะเห็ดโคนในส่วนผู้สนใจอยากจะเพาะเห็ดโคนน้อยราคาสูงสู่ตลาดที่ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในเวลานี้