อุดรธานี - เกษตรกรเขตชลประทานห้วยหลวงยิ้ม น้ำเต็มความจุเตรียมปล่อยกลางเดือนหน้า หลังจากไม่เคยปล่อยมากว่า 3 ปี แถมประปาโปรยยาหอม อนาคตน้ำสูบจากแม่น้ำโขงผลิตประปาทดแทน แต่ปีนี้ขอลดการปลูกข้าวนาปรังก่อน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง อ.เมือง จ.อุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และพิจารณาการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง โดยมีนายวิชัย จาตุรงค์กร นายช่าง หน.โครงการฯ นำหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง, กลุ่มผู้ใช้น้ำ 17 กลุ่ม และตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุม
นายวิชัย จาตุรงค์กร นายช่าง หน.โครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า อ่างฯ ห้วยหลวงมีความจุ 135.5 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรฤดูแล้งได้ ในปีนี้ฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ สะสมกว่า 203.1 ล้าน ลบ.ม. จนต้องระบายน้ำออกหลายครั้งเพื่อรักษาความมั่นคงแข็งแรงไว้
ล่าสุดมีความจุน้ำอยู่ที่ 125 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.เมือง อ.กุดจับ เพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้
ช่วงฤดูเพาะปลูกปีนี้มีพื้นที่ 82,145 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 25,856 ไร่ หรือ 31.48 เปอร์เซ็นต์ โครงการมีแผนจะปล่อยน้ำในคลองชลประทาน 2 สาย เพื่อทำการเกษตรฤดูแล้ง รอบแรกวันที่ 15 ธันวาคมนี้
จากการสำรวจเบื้องต้นจะมีพื้นที่ 9,873 ไร่ เป็นข้าวนาปรัง 4,098 ไร่ ที่เหลือเป็นพืชไร่, พืชผัก, อ้อย และบ่อปลา โดยรัฐบาลประกาศนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลง เกษตรกรมีคุณสมบัติเข้าโครงการ จะได้รับช่วยเหลือไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่
แผนจัดสรรน้ำของอ่างฯ ห้วยหลวง ช่วงฤดูแล้ง พ.ย. 60-เม.ย. 61 รวมทั้งสิ้น 72 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นเพื่อการเกษตร 21.7 ล้าน ลบ.ม., เพื่อผลิตน้ำประปา 19.8 ล้าน ลบ.ม., เพื่ออุตสาหกรรม 1.29 ล้าน ลบ.ม., เพื่อรักษาระบบนิเวศ-รั่วซึม 29.57 ล้าน ลบ.ม. จะเหลือน้ำสำรองอีก 52 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง
ทั้งนี้ ในอีก 3 ปีข้างหน้าการประปาส่วนภูมิภาคอุดรธานีจะเริ่มลดใช้น้ำดิบในอ่างฯ ไปผลิตน้ำประปาเมืองอุดรธานี โดยจะใช้น้ำจากแม่น้ำโขง
นายชัชวาล ลือคำหาญ นายก ทต.กุดจับ กล่าวว่า ปีนี้กรรมการฯ ต่างมีรอยยิ้ม หลังจากผ่านมาติดต่อกัน 3 ปีอ่างฯ ไม่ส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อกันน้ำไว้ผลิตประปาให้เมือง ปีนี้ก็จะได้ปลูกพืชฤดูแล้งกัน ส่วนนาปรังคงจะปลูกเพื่อบริโภคเท่านั้น ยิ่งมีข่าวดีมากขึ้นเมื่อประปาภูมิภาคมีแผนจะลดการใช้น้ำในอ่างฯ ห้วยหลวงลง
พร้อมขอให้เพิ่มปริมาณเก็บกักของอ่างฯ ด้วยการขุดลอกชายตลิ่งในบางจุดที่เหมาะสม ที่เคยขอให้รัฐบาลจัดสรรงบปีละ 200-300 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า พื้นที่ภาคอีสานมีภัยธรรมชาติน้อย หากจะเป็นน้ำท่วมก็ระยะเวลาไม่นาน หากพื้นที่ไหนท่วมนานก็มีสภาพเป็น “ป่าบุ่ง-ป่าทาม” แต่ชาวบ้านลงไปอาศัยอยู่ ปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่
โดยเฉพาะอุดรธานีที่เติบโตเร็ว เป็นเมืองสำคัญของอนุภูมิภาคนี้ แผนยุทธศาสตร์น้ำชาติจะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ผลิตประปา จะทำให้ศักยภาพด้านนี้มั่นคงขึ้น