ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ห่วงบุคลากรทางการแพทย์ป่วยวัณโรค เหตุเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยสูง ทั้งสถิติผู้ป่วยวัณโรคในเมืองไทยติดอันดับโลก 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง เหตุกระทบต่อการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วย ตั้งเป้าปี 2561 รณรงค์ลดอัตราป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ไม่เกินร้อยละ 5 และลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ไม่เกินร้อยละ 1
วันนี้ (28 พ.ย. 60) ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ ความร่วมมือในการดูแลสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ ครั้งที่ 10 ประเด็นการลดอัตราการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคสูง โดยมีนายแพทย์ เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์จาก 33 ประเทศทั่วโลกร่วมประชุมจำนวนกว่า 200 คน
นายแพทย์ เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ได้รับบริการสุขภาพที่ดี และบุคลากรสาธารณสุขปลอดโรค จากการสำรวจของสำนักบริหารการสาธารณสุขในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่ามีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 235 ราย
บางโรงพยาบาลมีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรครายใหม่สูงถึง 21 ราย รวมทั้งที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโลกที่กรุงมอสโก เมื่อพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา มีมติลดการติดโรควัณโรคในบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป “ลดโรค” หรือลดอัตราการป่วยด้วยวัณโรคในบุคลากรสถานบริการให้ไม่เกินร้อยละ 5 และ “ลดเสี่ยง” หรือลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ไม่เกินร้อยละ 1
“สถานการณ์วันโรคในประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง มีอัตราป่วยวัณโรคสูงถึง 171 คนต่อประชากร 100,000 คน ที่สำคัญผู้ป่วยวัณโรคเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จึงไม่มารับการรักษาทำให้แพร่เชื้อติดต่อได้ง่าย หากไม่จัดการควบคุม วัณโรคจะเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงในอนาคต จึงต้องรณรงค์ลดอัตราป่วยวัณโรคให้ลดลง” นายแพทย์ เจษฎากล่าว และว่า
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุติปัญหาวัณโรค กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายค้นหาผู้ป่วยวัณโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และบุคลากรสาธารณสุขให้ครอบคลุมร้อยละ 90 เพื่อลดอัตราการป่วยให้เหลือไม่เกิน 88 ต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2564
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า เมื่อบุคลากรป่วยเป็นวัณโรคจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน ทั้งความกังวลจะแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน รู้สึกอับอายที่จะเปิดเผยว่าตนเองติดเชื้อวัณโรค บางรายที่มีอาการป่วยรุนแรงมีอาการแพ้ยา หรือเกิดผลข้างเคียงจากการกินยา ทำให้ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว จำเป็นเร่งด่วนที่จะค้นหาบุคลากรในสถานบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือป่วยแล้ว เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม
สำหรับระบบการดูแลบุคลากรสถานบริการมี 4 มาตรการ คือ 1. ขับเคลื่อนนโยบายลดการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มบุคลากรสถานบริการทุกระดับ 2. “Smart Detect” การประเมินความเสี่ยงและคัดกรองบุคลากรกลุ่มเสี่ยง 3. “Smart Response” ลดความเสี่ยงเพื่อลดการติดเชื้อวัณโรคจากการทำงานของบุคลากร และ 4. สอบสวนและเฝ้าระวังวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น พยาบาลแผนกอายุรกรรม แผนกผู้ป่วยนอก